บทความ

Waste Management

19/06/2562

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชน และอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดขยะและของเสียต่างๆ เป็นจำนวนมาก จากการศึกษาข้อมูลผู้เขียนพบว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศรวม 27 ล้านตัน หรือ 74,998 ตันต่อวัน โดยคิดเป็นอัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อประชากรเฉลี่ยสูงถึง 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ประเทศไทยก็ยังมีขยะอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบการจัดการรวมมากกว่า 33 ล้านตันต่อปี โดยเป็นขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย 31 ล้านตัน และขยะอันตรายกว่า 2 ล้านตันซึ่งสถาบัน TDRI ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันมีปริมาณขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากที่ถูกนำไปกำจัดผิดวิธี ตลอดจนมีการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมายหรือธุรกิจรับกำจัดขยะโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาตรวจพบการลักลอบขนกากของเสียอันตรายร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรปราการ และชลบุรีโดยส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตและลักลอบดําเนินการอย่างผิดกฎหมาย

การแก้ปัญหาการจัดการขยะจึงต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยการสนับสนุนให้มีจำนวนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการขยะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีจำนวนน้อยรายจนทำให้เกิดปัญหาการกำหนดราคาและผูกขาดตลาด ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการกำจัดขยะซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือ เทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากขยะ หรือ Waste to Energy ซึ่งเป็นแนวคิดการนำขยะมาสร้างประโยชน์โดยการแปรสภาพเป็นพลังงานทดแทน

ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีต่างก็พยายามพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการขยะและของเสีย หลายประเทศในยุโรปได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยโดยยึดหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบและต้องจ่ายค่าบริหารจัดการและการกำจัดในอัตราที่เหมาะสม ตัวอย่างจากประเทศเยอรมันที่มีการบริหารจัดการเรื่องนี้เป็นอย่างดีเพราะมีการเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนอย่างเป็นระบบจนทำให้รัฐบาลเยอรมันไม่ต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะมูลฝอยในราคาพิเศษ เป็นต้น

ทั้งนี้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 (AEDP 2015) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี 2561-2580 (PDP 2018) ของประเทศไทยต่างก็กำหนดเป้าหมายการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะจำนวนรวม 550 และ 520 เมกะวัตต์ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเป้าหมายดังกล่าวตั้งไว้น้อยเกินไปและควรจะปรับให้สูงมากกว่านี้เพราะจำนวนขยะทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมต่างก็มีปริมาณมากขึ้นทุกวันและเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งโครงการ EEC เองก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีความเหมาะสมสำหรับการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั้งด้าน Supply ของขยะที่จะได้รับการดูแลบริหารจัดการคัดแยกอย่างเป็นระบบและด้าน Demand ความต้องการใช้ไฟของภาคอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่โดยรอบที่จะเพิ่มสูงมากขึ้นเนื่องจากนโยบายสนับสนุนและดึงดูดให้มีการลงทุนภายในพื้นที่

การส่งเสริมให้มีการนำขยะมาแปรสภาพเป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าอาจเป็นแค่เพียงทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาปริมาณขยะจำนวนมาก การกำกับดูแลที่เข้มงวดรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบจากภาคประชาชนก็จะส่งเสริมให้การบริหารจัดการและตรวจสอบมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรของประเทศไทยเรานั่นเอง