บทความ
DIGITAL INFRASTRUCTURE
09/01/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
Internet นับว่าเป็นนวัตกรรมมหัศจรรย์ที่ส่งผลกระทบมากที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตและเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร วิธีการทำงานรวมถึงวิถีชีวิตของคนในโลกยุคดิจิทัลไปอย่างสิ้นเชิง ความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นแรงผลักดันให้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามไปด้วยซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ คือ สายเคเบิลใต้น้ำ หรือ Submarine Cable
เทคโนโลยีสายเคเบิลใต้น้ำเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานโดยเริ่มตั้งแต่ชนิดแกนร่วม หรือ Coaxial Cable ที่ทำจากเส้นลวดทองแดงจนปัจจุบันมีวิวัฒนาการกลายเป็นระบบเคเบิลแบบ Digital ผ่านเส้นใยแก้วนำแสง หรือ Optical Fiber ที่จะแปลงข้อมูลให้กลายเป็นสัญญาณแสงจึงทำให้เคเบิลใยแก้วนำแสงสามารถส่งข้อมูลปริมาณมากและรวดเร็วกว่าแบบแกนร่วมที่ใช้การส่งสัญญาณแบบ Analog ดั้งเดิม รวมถึงต้นทุนของระบบเคเบิลใยแก้วยังมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากการวางเคเบิลใต้น้ำระบบหนึ่ง ๆ นั้นสามารถบรรจุเส้นใยแก้วได้หลายคู่และยังมีอายุการใช้งานที่ยาวกว่า 20 ปี
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกจึงต่างหันมาลงทุนพัฒนาสายเคเบิลใต้น้ำอย่างจริงจัง อาทิ Google ได้ประกาศลงทุนโครงการ Japan-Guam-Australia เพื่อพัฒนาสายเคเบิลใต้น้ำความยาวกว่า 9,500 กิโลเมตรจากญี่ปุ่นผ่านเกาะกวมมาที่เมืองซิดนีย์ซึ่งเมื่อนำไปเชื่อมกับโครงข่ายที่ได้ลงทุนไว้ก่อนหน้าเส้นทางสิงคโปร์-ออสเตรเลีย และฮ่องกง-เกาะกวมก็จะเชื่อมต่อครบเป็นวงกลมทำให้การส่งข้อมูลและการเชื่อมระบบต่างๆ ของ Google ในทวีปเอเชียรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หรือประเทศสิงคโปร์เองก็มีนโยบายส่งเสริมโครงการลงทุนสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจึงทำให้สิงคโปร์สามารถรองรับการให้บริการ content hosting ปริมาณมาก รวมถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ต่างๆ
เนื่องจากความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลของอาเซียน (ASEAN Digital Hub) รวมถึงสามารถเชื่อมโยงเส้นทางกับทวีปต่างๆ โดยง่าย รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการเร่งลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำโดยกำหนดให้ TOT ร่วมพัฒนาโครงการ AAE-1 เส้นทางเอเชีย – ยุโรปซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกลุ่มผู้ลงทุนจากบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำต่างๆ หรือทางฝั่ง CAT ก็ได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นทางไทย – ฮ่องกง ร่วมกับบริษัท China Aviation Cloud (CAC) Telecom โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้น
การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานในราคาต้นทุนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ (Competitive Cost) รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างครอบคลุม นอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการไอทีชั้นนำจากทั่วโลกแล้ว ในยุค Internet of Everything การมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตประสิทธิภาพสูงยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มผลผลิต รวมถึงยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน E-Commerce ของผู้ประกอบการในประเทศให้ดีขึ้น
การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นอีกหนึ่งรากฐานของการพัฒนาที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้สำเร็จลุล่วงนอกเหนือไปจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศที่ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งดำเนินการอยู่อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยต่อไปในระยะยาวนั่นเอง