บทความ

BUSINESS CONTINUITY

01/04/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ แผนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือ Business Continuity Plan (BCP) ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวตัดสินอนาคตของหลายองค์กร ตัวอย่าง case study ของการทำ BCP ที่มีประสิทธิภาพ คือ กรณีของบริษัท Morgan Stanley ที่เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ภายในตึก World Trade Center ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 บริษัทก็สูญเสียออฟฟิศและระบบปฏิบัติงานทั้งหมดใน 22 ชั้นแต่วันรุ่งขึ้น Morgan Stanley ก็สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นปกติผ่านทาง Backup Site ของบริษัท

การระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลให้หลายองค์กรตัดสินใจ activate แผนสำรองเพื่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติเพื่อลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อให้การทำงานและการดำเนินธุรกิจภายใต้แผนงาน BCP เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

อาทิเช่น บริษัทต่างๆ ก็มีการประกาศให้พนักงานบางส่วนสามารถทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เทคโนโลยีสำหรับการติดต่อสื่อสารและ Productivity tools จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ตัวอย่างเช่น การใช้ VPN เพื่อให้สามารถเข้าถึงเครือข่ายของบริษัทและยังคงมีความปลอดภัยอยู่ รวมถึงแอปพลิเคชัน Microsoft Teams, Zoom, Google Hangouts, Slack และ Cisco Webex ก็เป็นตัวเลือกสำหรับการติดต่อสื่อสารและการประชุมออนไลน์ที่ดี หรือแอปพลิเคชันการจัดเก็บและส่งไฟล์อย่าง Google Drive, Cloud Drive, OneDrive หรือ Google Docs ก็สามารถนำมาปรับใช้สำหรับการจัดการงานเอกสารได้เช่นเดียวกัน

รวมถึงการพิจารณาใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่วยความเสี่ยงในการสัมผัสและการแพร่กระจายของไวรัส เช่น การใช้ระบบจดจำใบหน้า (Biometric Facial Recognition) เพื่อทดแทนเครื่องสแกนลายนิ้วมือ การติดตั้งระบบการชำระเงินภายในองค์กรเป็นแบบไร้เงินสดเพื่อลดการใช้ธนบัตรหรือเหรียญ การลงนามเอกสารแบบ paperless หรือ eSignature เป็นต้น

นอกจากนั้น แผนงาน BCP ที่ดียังต้องครอบคลุมถึงการปกป้องข้อมูลที่เปรียบเสมือนทรัพยากรอันมีค่าของโลกยุคดิจิทัลโดยการจัดให้มีระบบสำรองข้อมูลภายนอก (Disaster Recovery Site) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับขนาดองค์กร การวางแผน BCP ที่ดีจึงนอกจากจะช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายของธุรกิจแล้วยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการที่ดีอันจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ลูกค้า และบริษัทคู่ค้าอีกทางหนึ่งด้วย

การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัยและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจึงเป็นเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งโครงการ EEC เองก็เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยให้เพียงพอกับความต้องการใช้งาน มีราคาต้นทุนที่เหมาะสมและแข่งขันได้ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสามารถขยายเพื่อรองรับการให้บริการในอนาคตทั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายในและภายนอกประเทศ บริการศูนย์ข้อมูล (Data Center) ดาวเทียมสื่อสาร ระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ รวมถึงเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนสำรองเพื่อบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจจากปัจจัยเสี่ยงที่ปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ด้าน ตลอดจนตอกย้ำว่าโลกทุกวันนี้กำลังใกล้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตทั้งการทำงานและชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจึงยิ่งทวีความสำคัญจนอาจเปรียบได้กับการเข้าถึงไฟฟ้าและสาธารณูปโภคอื่นๆ หรือ The internet is not a luxury but a utility นั่นเอง