บทความ

INVESTMENT TREND POST-COVID

05/10/2565

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเริ่มเดินหน้าเปิดประเทศก็ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามถึงทิศทางการลงทุนในยุคหลังวิกฤต COVID-19 ผู้เขียนจึงขอโอกาสใช้พื้นที่นี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทาง และเหตุการณ์ที่น่าสนใจค่ะ

 ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา WHA Group ได้มีการประกาศแผนธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสามารถสรุปถึงโอกาสและปัจจัยท้าทายสำคัญ ได้แก่ (1) การเปิดประเทศ (Reopening) ผ่านทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุม/ป้องกันโรค รวมถึงมาตรการด้านการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว และภาคการค้า/บริการสามารถขยายตัวได้มากขึ้น (2) ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยืดเยื้อ ตลอดจนสถานการณ์ในยุโรปตะวันออกระหว่างกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกและองค์การ NATO และประเทศรัสเซียที่มียูเครนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งก็ยังคงไม่สิ้นสุดและได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ/ ความมั่นคงของโลก (3) Technology Trend การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น เช่น Quantum Computing, 5G, Metaverse รวมถึง Disruptive Technology อาทิ Blockchain, Edge Computing ฯลฯ (4) ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) อัตราเงินเฟ้อโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสหรัฐอเมริกาเองก็มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นถึง 8.6% เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

หากพิจารณาถึงภาวะการลงทุนของประเทศไทย จะพบว่าในครึ่งแรกของปี 2565 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง  เป็นจำนวนโครงการรวม 784  โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 358 โครงการ หรือร้อยละ 46 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดถึง 4.2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว สำหรับยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวม 395 โครงการ เป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 1.3 แสนล้านบาท  หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะพบว่ามีจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3  ในขณะที่มูลค่าการลงทุนรวมลดลงร้อยละ 53

แม้ COVID-19 จะทำให้การลงทุนมีการชะลอตัว เศรษฐกิจของไทยก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวในด้านบวกและมีแนวโน้มการลงทุนที่สดใสมากขึ้น ดังสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.5 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate) ที่เป็นเครื่องชี้วัดระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมก็ได้ปรับตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 62 ใกล้เคียงกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วงก่อนจะมีการระบาดของไวรัส COVID-19 อยู่ที่ร้อยละ 67 เป็นต้น

ท่ามกลางความกดดันจากความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่มิอาจมองข้าม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนของไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลหลักมาจากการบริโภคในประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและเงินทุนที่จะทยอยเข้ามาในภูมิภาคภายหลังการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง