บทความ

Semiconductor Shortage

31/08/2565

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

Semiconductor เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าอยู่ระหว่างสารตัวนำและฉนวน ซึ่งมีขนาดเล็ก เบา สามารถประมวลผลได้เร็ว จึงถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนหุ่นยนต์ในภาคการผลิต เมื่อ Semiconductor เป็นชิ้นส่วนพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่หลากหลายเช่นนี้ จึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยจากการที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนั้น จึงทำให้ความต้องการของ Semiconductor เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจนกำลังการผลิตเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปก็ได้เข้ามาเป็นปัจจัยเร่งให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการเพิ่มขึ้นนั้น ฝั่งผู้ผลิตกลับประสบกับปัญหาหลายประการไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาอย่างสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การผลิตหลายแห่งต้องหยุดชะงัก ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งของไต้หวันที่ทำให้มีปริมาณน้ำสะอาดไม่เพียงพอสำหรับการผลิต รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นในปีนี้อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบต่อการส่งออกแร่ธาตุสำคัญสำหรับการผลิต ตลอดจนข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวันที่มีแนวโน้มทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

จากความไม่สอดคล้องกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่เกิดขึ้น จึงนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก โดยวิกฤตครั้งนี้ยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์และส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้าง ตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเกมคอนโซล ต่างก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตหรือหยุดการผลิตชั่วคราว พร้อมกับการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ เองก็ได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าบางชนิดขาดแคลน รวมถึงราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก็ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการผลิต Semiconductor นั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนทั้งการออกแบบ กระบวนการผลิต รวมถึงต้องมีเงินลงทุนและทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังสะท้อนให้เห็นได้จากการที่ปัจจุบันผู้เล่นในอุตสาหกรรมมีจำนวนเพียงน้อยราย โดยส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่นั้นก็มาจากผู้ผลิตรายใหญ่เพียงสองราย ซึ่งได้แก่ Taiwan Semiconductor Manufacturing (TSMC) บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดไปมากกว่า 53% และ Samsung Electronics บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 17%

โดยท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ รัฐบาลหลายประเทศต่างก็เร่งออกแผนสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิเช่น กฎหมาย CHIPS and Science Act ของสหรัฐอเมริกา ที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นศักยภาพทางการแข่งขันในอุตสาหกรรม Semiconductor โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีและการสร้างความสามารถในการผลิตชิปในประเทศ หรือ นโยบาย Made in China ของจีนที่กำหนดให้ Semiconductor เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาพร้อมกับการสนับสนุนผ่านมาตรการทางการเงินและการคลัง เป็นต้น

ถึงแม้ Semiconductor จะเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ เราคงต้องติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป