บทความ

MINDSET

17/08/2565

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ผู้เขียนมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการที่บุคคลจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติ หรือ Mindset เป็นสำคัญ เนื่องจาก Mindset เปรียบเสมือนความเชื่อหรือกรอบความคิดที่ชี้นำพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งการพัฒนาคนนั้นต้องเริ่มปลูกฝัง Mindset ตั้งแต่วัยเด็ก โดยสอนให้เด็กรุ่นใหม่เป็นคนที่มีจินตนาการ คิดเป็น รู้จักประยุกต์ คิดวิเคราะห์และตั้งคำถาม รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกให้เขาเป็นคนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาถึงการสร้างทัศนคติ ดร. แครอล เอส. ดเว็ค นักจิตวิทยาชื่อดังจาก Stanford University ก็ได้นำเสนอทัศนคติของบุคคล 2 รูปแบบ ได้แก่ ทัศนคติแบบยึดติด (Fixed Mindset) และ ทัศนคติแบบเติบโต (Growth Mindset) ไว้ใน Mindset: The New Psychology of Success หนังสือขายดีที่ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่ง ดร. แครอล ได้เปรียบเทียบการพัฒนาตนเองของผู้ที่มีทัศนคติทั้ง 2 แบบ ในขณะที่ผู้ที่มี Fixed Mindset จะมองว่าทุกอย่างเป็นสิ่งตายตัวและไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มี Growth Mindset จะเชื่อว่าทุกอย่างสามารถพัฒนาได้ขึ้นอยู่กับความพยายามและการฝึกฝน  พร้อมกันนี้ ยังได้ยกตัวอย่างการนำ Growth Mindset ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในด้านการพัฒนาทักษะทางกีฬา การทำธุรกิจ และ การเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

ทั้งนี้ หลายองค์กรชั้นนำระดับโลกก็ได้นำเอาแนวความคิด Growth Mindset ไปปรับปรุงกระบวนการพัฒนาบุคลากรและสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบเติบโตกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในองค์กรภาคธุรกิจที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมีผลชี้วัดความสำเร็จขององค์กร ตัวอย่างเช่น Microsoft ที่ได้วางรากฐานวัฒนธรรมองค์กรใหม่ให้พนักงานมี Growth Mindset จึงทำให้ Microsoft สามารถลดปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร อีกทั้งยังได้ส่งผลให้พนักงานของ Microsoft มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดทำสิ่งใหม่ๆ มีความทุ่มเทในการทำงาน ตลอดจนกล้าที่จะแสดงความเห็นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาไปตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่การสร้าง Growth Mindset ที่มีความสำคัญ ในขณะเดียวกัน การสร้างแนวคิดแบบผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurial Mindset ก็นับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่จะช่วยให้บุคลากรชาวไทยมีจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ รู้จักคิดนอกกรอบ และมีมุมมองในการทำงานที่เปิดกว้าง นอกจากนี้ ยังมี Benefit Mindset ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ต่อยอดจาก Growth Mindset ที่มุ่งเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้คำนึงถึงการสร้างคุณค่าและการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคมและเศรษฐกิจตาม "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาตินั่นเอง

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการกำหนดแผนการพัฒนาบุคลากร/ แรงงานชาวไทยให้มีทักษะด้านความรู้และเทคนิค (Hard Skill) ที่จำเป็น อีกทั้งยังต้องมีทัศนคติ หรือทักษะด้านสังคม (Soft Skill) ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเพิ่มทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถของบุคลากรชาวไทยให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต อันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่จุดหมายการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ตลอดจนสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง