บทความ

Kunming-Vientiane Railway: When opportunity is knocking at our door

16/06/2564

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายท่านอาจจะได้เห็นข่าวการประกาศความสำเร็จของการขุดเจาะอุโมงค์ความยาว 9.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์แห่งสุดท้ายของเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลางสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ จากจำนวนทั้งสิ้นกว่า 167 อุโมงค์ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีนและลาว โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันชาติของ สปป.ลาว

ทางรถไฟสายดังกล่าวซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของจีน มีความยาวทั้งสิ้นกว่า 1,000 กิโลเมตรและคาดว่าจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางด้วยรถโดยสารจากเดิมที่ใช้เวลากว่า 30 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่ถึง 10 ชั่วโมงด้วยรถไฟซึ่งทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยธนาคารโลกได้พยากรณ์ว่า ภายในปี 2573 การขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้จะมีปริมาณสูงถึง 7.6 ล้านตัน ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งจากทางน้ำเป็นทางรถไฟ เพื่อย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง นอกจากนั้นธนาคารโลกยังได้พยากรณ์จำนวนผู้โดยสารชาวจีนที่จะเดินทางโดยรถไฟเส้นดังกล่าวว่าจะมีปริมาณสูงถึง 1,170,000 คน ภายในปี 2573 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ

ในมุมของ สปป.ลาว เส้นทางรถไฟสายดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยปลดล็อคการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land-locked Country) ไปสู่การเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าทางบกที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง (Land-linked Country) โดยมีโครงการยุทธศาสตร์สำคัญอีก 2 โครงการได้แก่ 1. ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง (Vung Ang Port) ในประเทศเวียดนามซึ่งถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม (สปป.ลาว) อยู่ 60% ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามถือหุ้นอีก 40% และ 2. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง ระยะทาง 555 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือน้ำลึกที่ใกล้นครหลวงเวียงจันทน์มากที่สุด โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 และ 2568 ตามลำดับ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยมีการจัดขบวนรถไฟเพื่อวิ่งขนส่งสินค้าและรับส่งผู้โดยสารจากสถานีหนองคายไปยังสถานีท่านาแล้งซึ่งอยู่ในฝั่งของ สปป.ลาว และมีแผนที่จะร่วมมือกับเอกชนเพื่อเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทางรวม 683 กิโลเมตร โดยวางแผนที่จะเป็นเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ เพื่อขนส่งสินค้าลงมายังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถ้าระบบต่าง ๆ ถูกเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย-จีน ใช้เวลาเพียง 20 กว่าชั่วโมง เทียบกับการขนส่งทางเรือที่ต้องเสียเวลาเดินทางหลายวัน โดยผลการศึกษาของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่าเราสามารถประหยัดต้นทุนการขนส่งได้กว่า 32% ในเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-คุนหมิง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เส้นทางรถไฟจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์กำลังจะเปิดใช้บริการภายในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ระบบรถไฟไทยที่จะไปเชื่อมต่อกับเส้นทางดังกล่าวกลับยังไม่มีความชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะต้องรีบหาแนวทางที่ชัดเจนสำหรับจัดการกับโอกาสที่เรากำลังจะสูญเสียไป ทั้ง ๆ ที่โอกาสนั้นได้มาจอดเทียบรออยู่หน้าบ้านของเราแล้ว อยู่ที่เราเองว่าพร้อมที่จะเปิดประตูต้อนรับโอกาสนั้นได้เมื่อไหร่แค่นั้น