บทความ

STIMULUS PACKAGE

10/06/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบไปทั่วโลกจนทำให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของหลายประเทศต่างออกมาประกาศมาตรการเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบ ซึ่งวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงทำให้ความเสียหายสืบเนื่องจาก COVID-19 แตกต่างจากวิกฤตในอดีต อาทิ The Great Depression, วิกฤตต้มยำกุ้ง, Subprime 2008 และอื่นๆ ทั้งในมิติของความลึกหรือความซับซ้อนของปัญหาไปจนถึงความกว้างและความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น มาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้รับมือกับวิกฤต COVID-19 จึงเป็นมาตรการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ อาทิ “บาซูก้า” มาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ที่กำหนดงบประมาณถึงร้อยละ 12.0, 9.6 และ 7.8 ของ GDP ตามลำดับเลยทีเดียว

แม้ว่ามาตรการที่ทั่วโลกประกาศออกมาจะมีความแตกต่างในรายละเอียดตามบริบทและความจำเป็นของแต่ละประเทศแต่ภาพรวมทิศทางของมาตรการต่างๆ นั้นก็มีความคล้ายคลึงกันโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการแบ่งกลุ่มมาตรการรับมือออกเป็น (1) กลุ่มการรับมือกับโรคระบาด อาทิ การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการป้องกัน ตรวจทดสอบ และรักษา รวมถึงการพัฒนาระบบติดตามและการเฝ้าระวัง (2) กลุ่มการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและจำกัดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น มาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงาน ลูกจ้าง และธุรกิจขนาดเล็ก และ (3) กลุ่มการฟื้นฟูระยะสั้นและการรักษาเสถียรภาพระยะยาว เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ Quantitative Easing, มาตรการสินเชื่อและการรักษาสภาพคล่อง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยหน่วยงานภาครัฐต่างก็กำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้วงเงินรวม 0.9 ล้านล้านบาท หรือ กระทรวงการคลังที่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบเนื่องจาก COVID-19 กว่า 1 ล้านล้านบาท ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่างก็พิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ คณะกรรมการ BOI ที่ประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น การผลิตเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญ และกิจการในกลุ่มไบโอเทคโนโลยี การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่เห็นชอบให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยพิจารณาลดหย่อนค่าบำรุงรักษา ค่าบริการการประกอบกิจการ ค่าเช่าที่ดินและอาคาร รวมถึงมาตรการสนับสนุนผ่อนปรนพิเศษอื่นๆ เป็นต้น

เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้กลายเป็น Disruption ที่เปิดโอกาสการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ช่วงเวลานี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นจังหวะดีที่รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องเร่งทำแพ็กเกจพิเศษเพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนโดยเน้นไปที่กลุ่ม Digital Health Technology เช่น การให้บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (AI-empowered Healthcare) หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับไปสู่การประยุกต์ใช้นวัตกรรมขั้นสูงในอุตสาหกรรมและบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น

ซึ่งหากสามารถกำหนดมาตรการส่งเสริมที่มีประสิทธิภาพจนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม Digital Healthcare ของไทยเติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวก็จะเป็นการช่วยพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสโดยการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขเดิมที่ไทยมีความแข็งแกร่งและเป็นการใช้เครื่องมือของภาครัฐเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤต COVID-19 ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั่นเอง