บทความ

EEC: NEXT STEP

15/01/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในฐานะ World-class Economic Zone ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของอนุภูมิภาค CLMVT และสามารถเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative และเขตพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

โครงการ EEC จึงเป็นความหวังที่จะช่วยฉุดให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึง transform ประเทศไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่าที่เน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์แทนการใช้ทรัพยากรพื้นฐานและปัจจัยการผลิต และเป็นสปริงบอร์ดการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ทั้งคมนาคมและดิจิทัลภายหลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนในเมกะโปรเจคมาเป็นเวลานาน

ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสช่วงเริ่มต้นปีใหม่นี้เพื่อสรุปความคืบหน้าในปีที่ผ่านมาตามแผนงานของโครงการ EEC ที่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ คือ (1) ด้านการออกกฎหมาย ซึ่งก็ได้มีการประกาศ พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 (2) ด้านการลงทุนโครงการเมกะโปรเจค 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 6.5 แสนล้านบาท โดยในปี 2562 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีไปแล้วจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งทั้งสองโครงการมีเงินลงทุนรวมกันกว่า 2.7 แสนล้านบาท และมีอีก 3 โครงการที่ยังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนการพิจารณา คือ โครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่คาดว่าจะได้บทสรุปในระยะเวลาอันใกล้นี้

(3) ด้านการลงทุน จากการเปิดเผยข้อมูลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้เขียนพบว่า การลงทุนภายในพื้นที่ EEC สำหรับปี 2562 มีมูลค่าทั้งหมดกว่า 4.0 แสนล้านบาท โดยจำแนกเป็นเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจำนวน 3.2 แสนล้านบาท และนอกนิคมอุตสาหกรรมและอื่นๆ อีก 0.8 แสนล้านบาท ตลอดจนในปีที่ผ่านมาก็มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการ BOI ภายในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 โดยมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมรวมสูงถึง 6.7 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับแผนงานประจำปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย EEC ก็ได้วางนโยบายดำเนินงานโดยเน้นการพัฒนาในระยะ (4) การขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชนตามเป้าหมายการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแผนงานก็ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การสร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชน การขยายการท่องเที่ยว การยกระดับทักษะบุคลากร การดำเนินการตามมาตรฐาน BCG (Bio, Circular, Green economy) และการบูรณาการการลงทุนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก โครงการ EEC จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนและผลักดันให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอีกครั้ง ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่า มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นและหากรัฐบาลสามารถเร่งดำเนินงานได้ตามแผนงานของโครงการ EEC เศรษฐกิจของประเทศในปีนี้และปีต่อๆ ไปก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ดังเช่นที่ผู้เขียนมักพูดเสมอเมื่อมีโอกาสว่า การลงทุนใน EEC จะไม่ได้เห็นผลในทันทีแต่ต้องใช้ระยะเวลาตามกระบวนการทำงาน และปี 2563 นี้ก็จะเป็นปีที่เริ่มเห็นผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากโครงการลงทุนต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง