บทความ

SPECIAL ECONOMIC ZONE

18/09/2562

คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Special Economic Zone (SEZs) ได้กลายเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจยุคใหม่ที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดการลงทุนจากผู้ลงทุนต่างชาติซึ่งแนวคิดพื้นฐานของ SEZs คือ การกำหนดขอบเขตของพื้นที่พิเศษที่มีการเลือกใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ จึงทำให้การบริหารจัดการ SEZs มีความคล่องตัวเหนือกว่าพื้นที่โดยทั่วไป

รายงานการลงทุนโลก หรือ World Investment Report ของ UNCTAD ประจำปี 2019 ได้เปิดเผยข้อมูลจำนวน SEZs ทั่วโลกไว้กว่า 5,383 แห่ง โดยประเทศที่มีจำนวน SEZs มากเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ ประเทศจีน (2,543 แห่ง) ฟิลิปปินส์ (528 แห่ง) อินเดีย (373 แห่ง) ทวีปอเมริกาเหนือ (262 แห่ง) และ รัสเซีย (130 แห่ง) ตามลำดับ

ทั้งนี้การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตระหว่างประเทศและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานโลกตั้งแต่ช่วงปลาย ค.ศ. 1990 จนถึง 2000 เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้จำนวนของ SEZs โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค CLMVT ผู้เขียนพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า นอกจากประเทศเวียดนามที่มีการใช้ SEZs เป็นกลไกส่งเสริมการลงทุนนับตั้งแต่มีการประกาศปฏิรูปประเทศเมื่อปี 1986 เป็นต้นมาแล้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SEZs เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของประเทศจีนที่มีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อกันโดยปัจจุบัน สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะถึง 10 แห่งที่มีการอนุมัติและเริ่มดำเนินการแล้ว

รวมถึงสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าที่เมื่อต้นปีก็ได้มีการประกาศจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ (Kyaukphyu Special Economic Zone – KPSEZ) เป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่ 3 โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ประเทศจีนน่าจะวางแผนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเจ้าผิวก์อย่างจริงจังตามยุทธศาสตร์ BRI เนื่องจากการเชื่อมต่อไปยังเมืองเจ้าผิวก์จะเป็นการเปิดเส้นทางใหม่ของจีนไปสู่มหาสมุทรอินเดียและเป็นประตูสู่ประเทศในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป

เนื่องด้วย SEZs เป็นพื้นที่ที่มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าพื้นที่เศรษฐกิจทั่วไปจึงทำให้ SEZs มีความคล่องตัวในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน นโยบายการจัดเก็บภาษี การจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งโครงการ EEC เองก็ถูกออกแบบให้เป็น World Class Economic Zone โดยเฉพาะด้านการรองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อุตสาหกรรม และด้วยศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของ ASEAN โครงการ EEC จึงสามารถเชื่อมต่อกับระบบโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศพ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 สำหรับโครงการ EEC ไปแล้วซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขับเคลื่อนโครงการตามแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบ SEZs ที่ครอบคลุมทั้งบริบทด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีนวัตกรรม ระเบียบกฎหมาย รวมถึงด้านสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ขั้นต่อไปจึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันโครงการ EEC ให้เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่สามารถขยายผลความสำเร็จไปยังพื้นที่อื่นๆ อาทิเช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดชายแดนที่ประกาศไปก่อนหน้ารวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพอันจะเป็นส่วนสำคัญทั้งด้านการเป็นกลไลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ที่จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง รวมทั้งสามารถแข่งขันและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงนั่นเอง