บทความ

BIOPLASTICS

04/09/2562

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาต่อเนื่องของประเทศไทยมาหลายปี โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกรวมกันกว่า 2 ล้านตันแต่มีความสามารถนำกลับมา Recycle ได้เพียง 5 แสนตันเท่านั้นจึงเหลือขยะพลาสติกอีก 1.5 ล้านตันที่ต้องถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลายรวมถึงบางส่วนยังคงหลุดรอดไม่สามารถจัดเก็บได้จึงทำให้ตกค้างจนเกิดเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งจากรายงานการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์เจียเมื่อปี 2017 เปิดเผยว่า ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดรองจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา

ปัจจุบันหลายฝ่ายจึงเริ่มหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมาก็ได้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะในทะเลของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเมื่อปลายปีที่แล้วรัฐบาลไทยก็ได้กำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 7 ชนิดภายในปี 2025 ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลาย (Biodegradable plastic) เพื่อทดแทนเนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาย่อยสลายกว่าหลายร้อยปี พลาสติกชีวภาพหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสามารถย่อยสลายได้ภายใน 6-12 เดือนเท่านั้น

แนวโน้มความต้องการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ตามกระแสการตื่นตัวรักษาสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสอันดีของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย โดยจากการศึกษาข้อมูลผู้เขียนพบว่าวัสดุธรรมชาติที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพมีหลายชนิด เช่น เซลลูโลส คอลลาเจน เคซีน เป็นต้น ซึ่งในบรรดาวัสดุธรรมชาติทั้งหลายวัตถุดิบประเภทแป้งนับว่ามีความเหมาะสมมากที่สุดโดยเฉพาะกรณีของประเทศไทยพืชที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพจึงเป็นข้าวโพดและมันสำปะหลังเนื่องจากเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย

ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 รวมถึงกำหนดแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ พ.ศ. 2561-2570 ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการ EEC และพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ อาทิเช่น จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่นที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนการผลิตเอทานอลและสารตั้งต้นสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพที่จะช่วยยกระดับศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพของไทยในด้านต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี การบริหารจัดการต้นทุน การขยายตลาดภายในและต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างกลไกที่เหมาะสมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายและอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการไทย คือ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพยังมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกปกติถึง 2-3 เท่าตัว มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศเป็นวงกว้างควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านราคาในระยะเริ่มต้นจนเกิดเป็นการประหยัดต่อขนาดของต้นทุนการผลิตจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยให้สามารถเติบโตจนกลายเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้

การส่งเสริมให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพอย่างแพร่หลายภายในประเทศจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดลอยเพราะนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือภาคการเกษตรไปพร้อมๆ กับโอกาสการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเชิงรุกสำหรับอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพแล้วก็ยังจะช่วยตอบโจทย์ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลดความสูญเสียดังเช่นเหตุการณ์การเสียชีวิตของมาเรียมและสัตว์ทะเลอื่นๆ เนื่องจากการบริโภคขยะพลาสติกได้อีกด้วย