บทความ

Deforestation Regulation for Sustainable Business Transformation

07/07/2568

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) คือการแปลงสภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย หรืออุตสาหกรรม โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1990 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้วราว 420 ล้านเฮกตาร์ (2,625 ล้านไร่) และถึงแม้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะชะลอลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ระหว่างปี 2015–2020 ก็ยังมีการตัดป่าเฉลี่ยถึงปีละกว่า 10 ล้านเฮกตาร์ (62.5 ล้านไร่) ซึ่งการลดลงของพื้นที่ป่านั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายสมดุลของระบบนิเวศ และเร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาอย่างจริงจังเพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ EUDR (EU Regulation Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลตั้งแต่ปี 2023 และจะเริ่มบังคับใช้จริงกับธุรกิจขนาดใหญ่ปลายปี 2025 และธุรกิจ SME กลางปี 2026 โดยกฎหมายฉบับนี้ระบุให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานที่ส่งสินค้า 7 ประเภทหลัก ได้แก่ เนื้อวัว ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ไม้ ยางพารา โกโก้ และกาแฟ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้อง เช่น ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เข้าสู่ตลาด EU ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผ่านกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Due Diligence) ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกปรับสูงสุด 4% ของยอดขาย หรือถูกระงับการนำเข้าโดยทันที

กฎระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นหัวใจของการส่งออกในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้า EUDR ไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “ประเทศความเสี่ยงต่ำ” ซึ่งได้รับการยกเว้นจากขั้นตอนการประเมินและลดความเสี่ยง แต่ยังคงต้องรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างโปร่งใส จึงถือว่ามีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากเราไม่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือในห่วงโซ่การผลิตและมาตรฐานด้านความโปร่งใสได้อย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงในอนาคตซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมการส่งออกและความน่าเชื่อถือในระยะยาว

ความท้าทายสำคัญจึงอยู่ที่การจัดการข้อมูลตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมและขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ หากต้องการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาคธุรกิจเองสามารถเริ่มลงทุนในระบบ Traceability ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี GIS หรือฐานข้อมูลร่วมกับคู่ค้าเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ส่วนภาครัฐก็สามารถช่วยสนับสนุนได้ในหลากหลายมิติ ทั้งการจัดหาเครื่องมือดิจิทัลสำหรับเกษตรกรรายย่อย อบรมเกษตรกรเกี่ยวกับข้อกฎหมาย พัฒนามาตรฐานรับรองสินค้าให้สอดคล้องกับสากล รวมถึงเตรียมความพร้อมรองรับการขยายรายการสินค้าใน EUDR ซึ่งจะมีการทบทวนทุก 2 ปี

กฎระเบียบด้าน Deforestation นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการค้าสินค้าเกษตร และเป็นบททดสอบในการยกระดับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมให้สอดรับกับมาตรฐานสากลในยุคเศรษฐกิจสีเขียว หากสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่รักษาตลาดเดิมไว้ได้เท่านั้น แต่ยังสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในตลาดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วยเช่นกัน เพราะในความเป็นจริง ป่าไม้ไม่ใช่แค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่คือ “ทุนทางธรรมชาติ” ที่ต้องร่วมกันดูแลรักษาและส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป