บทความ
PRIORITIZING EMPLOYEE WELL-BEING
22/01/2567คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ องค์กรทั่วโลกจึงต่างเร่งปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อยอดความสำเร็จและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขององค์กรนั้นไม่ได้มาจากกลยุทธ์ที่ดีเพียงอย่างเดียวแต่ยังต้องดำเนินควบคู่ไปพร้อมกันกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Well-Being) เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงใด ทรัพยากรบุคคลก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อพูดถึงการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน หลายท่านอาจนึกถึงการมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงานนั้นเป็นการดูแลเชิงบูรณาการที่ประกอบกันด้วยหลายปัจจัยซึ่งครอบคลุมทั้ง Physical & Mental Well-Being การมีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพใจที่ดี การจัดสรรเวลาการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล Financial Well-Being การมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง ตลอดจน Career Well-Being การมีความสุขกับงานและมองเห็นถึงความเติบโตในสายอาชีพที่ชัดเจน
โดยการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานกลายเป็นเรื่องที่องค์กรเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นซึ่งองค์กรชั้นนำต่างก็ได้นำเอาแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการมีสวัสดิการดูแลสุขภาพสำหรับพนักงานและครอบครัว เช่น การจัดตั้งศูนย์สุขภาพภายในองค์กร การมีบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล แอปพลิเคชันด้านสุขภาพที่พนักงานสามารถรับคำปรึกษาแบบออนไลน์ ฯลฯ การสนับสนุนให้พนักงานมีสุขภาพกายและใจที่ดีผ่านการส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือสร้างพื้นที่ออกกำลังกายภายในออฟฟิศ การพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพกายและใจ การจัดสรรพื้นที่เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานและส่งเสริมให้เกิดการใช้เวลาร่วมกับเพื่อนร่วมงาน การสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ฯลฯ
การพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่องค์กรที่ใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานนั้นถือเป็นการลงทุนในระยะยาวที่ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความสุขและความพึงพอใจโดยรวมของพนักงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้องค์กรมีผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมสูงขึ้นจากการมีสุขภาพที่ดี มีความสุขและรู้สึกมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมถึงอัตราการขาดงานจากการเจ็บป่วยของพนักงานที่ลดลงซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลให้กับองค์กรในระยะยาวได้อีกด้วย นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานยังเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ที่สามารถใช้สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มความผูกพันและความจงรักภักดีของพนักงานที่มีต่อองค์กรซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้พนักงานอยู่กับองค์กรได้นานมากยิ่งขึ้นหรือลดอัตราการลาออกของพนักงานได้ รวมถึงยังช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาในองค์กรอีกด้วย
ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่คนทำงานต่างให้ความสำคัญกับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพส่วนบุคคลและคุณภาพชีวิตในที่ทำงาน การพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่องค์กรที่ใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานจึงถือเป็นเรื่องระดับกลยุทธ์ที่ไม่อาจมองข้าม องค์กรควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพใจ การพัฒนาทักษะ และการพัฒนาอาชีพ เพราะพนักงานถือเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถเดินหน้าสู่ความสำเร็จตามกลยุทธ์ที่วางไว้นั่นเอง