記事

QUANTUM COMPUTING

01/06/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Quantum Computing หรือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่อาศัยปรากฏการณ์เชิงควอนตัมในการช่วยประมวลผลข้อมูลนั้นกำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากความสามารถในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้รวดเร็วขึ้นหลายเท่าตัวจึงสามารถนำมาช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจได้อย่างมหาศาล โดย BCG บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจสัญชาติอเมริกันก็ได้เปิดเผยมูลค่าของตลาด Quantum Computing ทั่วโลกว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 50 พันล้านเหรียญภายในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 52.8 ตั้งแต่ปี 2025 ถึงปี 2030 เลยทีเดียว

Quantum Computing นั้นถือเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนามาหลายสิบปี ซึ่งหลายประเทศต่างให้ความสนใจกับการต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยประเทศจีนนับเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีความโดดเด่นและได้มีการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Quantum Computing อย่างจริงจัง ดังสะท้อนจากงบประมาณที่รัฐบาลจีนลงทุนในเทคโนโลยีควอนตัมเป็นมูลค่าสูงถึง 15.0 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 ในขณะที่สหภาพยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกามีงบประมาณการลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ที่ 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ตระหนักถึงความสำคัญ ภาคเอกชนเองก็ต่างตื่นตัวในการพัฒนายกระดับเทคโนโลยีควอนตัม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ได้แก่ IBM, Google, Intel และ Microsoft ที่ได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะของเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ยังได้มีความร่วมมือกับองค์กรและบริษัทภาคธุรกิจจากหลายอุตสาหกรรมในการนำเทคโนโลยีไปก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น Volkswagen บริษัทผู้ผลิตยานยนตร์ชั้นนำที่ได้ร่วมมือกับ Google ในการใช้ Quantum Computing มาออกแบบยานยนตร์ไร้คนขับที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Design Optimization) อีกทั้งยังมี Roche บริษัทยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกที่ได้ร่วมมือกับ Cambridge Quantum บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมจากประเทศอังกฤษ ในการนำเทคโนโลยี Quantum มาคิดค้นสูตรยารักษาโรค Alzheimer และวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมเพื่อค้นหาแนวทางการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง หรือ Personalized Medicine ที่มีประสิทธิภาพทางการรักษามากยิ่งขึ้น เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และ Frost and Sullivan บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และงานวิจัยธุรกิจระดับโลก ก็ได้คาดการณ์ว่าตลาดควอนตัมในประเทศไทยนั้นจะมีการขยายตัวจาก 195 ล้านบาทในปี 2020 เป็น 780 ล้านบาทภายในปี 2025 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึงร้อยละ 32 เลยทีเดียว โดย ภาครัฐก็ได้ส่งเสริมและมีแผนจะเริ่มพัฒนา Quantum Supremacy ภายในปี 2028 ซึ่งเป็นระดับที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมที่ทรงพลังที่สุดไม่สามารถแก้ได้ อันจะช่วยเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการ EEC ที่เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถนำเทคโนโลยีควอนตัมไปเสริมศักยภาพทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนของตลาดหรือผู้บริโภคผ่านสินค้าและบริการรูปแบบใหม่นั่นเอง

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้แสดงทรรศนะไว้ว่า Quantum Computing กำลังจะกลายเป็น game changer ต่อภาคอุตสาหกรรมของโลกและจะเข้ามามีบทบาทโดยเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบบนิเวศและแพลตฟอร์มสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆในอีกไม่ช้า ช่วงเวลานี้ภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรเร่งเตรียมความพร้อม ศึกษาความเป็นไปได้ และประเมินผลกระทบของการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ตลอดจนวางแผน reskill คนในองค์กรให้มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคควอนตัมนั่นเอง