記事

SOLVING THE WATER CRISIS

22/04/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัญหาการขาดแคลนน้ำนับเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 ประชากรจำนวน 1.8 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอย่างสิ้นเชิง โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก การขยายตัวของเมือง ตลอดจนการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปทานมีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งที่เข้ามาเพิ่มปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในหลายพื้นที่

การค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นภารกิจที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต รวมถึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมที่เป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ซึ่งการขาดแคลนน้ำจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารในที่สุด นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเองก็ต้องพึ่งพาน้ำเป็นอย่างมาก การขาดแคลนน้ำจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการลงทุนและการจ้างงานอีกด้วย จะเห็นได้ว่า การขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและนำมาซึ่งความเสี่ยงอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้น การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันจึงทำให้มีศักยภาพในการเข้ามาช่วยยกระดับการบริหารจัดการน้ำในสองส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมการผลิตน้ำสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติเพื่อให้เกิดปริมาณน้ำที่มากขึ้นอย่างเช่นการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) หรือ การผลิตน้ำจากอากาศ (Atmospheric Water Generator: AWG) รวมถึงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ด้วยเทคโนโลยีการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Wastewater Reclamation) ที่ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและเพิ่มปริมาณน้ำที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ และการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ IoT Sensor เพื่อช่วยติดตามและควบคุมการใช้น้ำ ตรวจจับจุดรั่วไหลเพื่อลดการสูญเสีย รวมถึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มและพยากรณ์ความต้องการใช้น้ำในอนาคต ช่วยวางแผนการจัดสรรและระบบส่งจ่ายน้ำได้อย่างเหมาะสม ลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำเป็นปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แผนการบริหารจัดการระยะยาวทั้งด้านการจัดหาปริมาณน้ำที่เพียงพอ รวมถึงการมีราคาต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากแต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยหนึ่งในรูปแบบความร่วมมือที่ผู้เกี่ยวข้องควรนำมาพิจารณา คือ โครงการเมกะโปรเจคร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership) ที่ช่วยทำให้เกิดการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการกำหนดแผนงานเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะการขาดแคลนน้ำในอนาคตแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จที่ต้องดำเนินควบคู่กันคือ กระบวนการปลูกฝังจิตสำนึกและความตระหนักรู้ของทุกภาคส่วนในการใช้น้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านน้ำและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาวนั่นเอง