記事

GREEN LOGISTICS

21/08/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมาเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งยังนำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงถือเป็นวาระสำคัญที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดยอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ในฐานะอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเองก็ได้ตระหนักถึงปัญหาและมีความพยายามคิดค้นแนวทางแก้ไขเพื่อลดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

โดยแนวความคิดที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้น Green Logistics ที่เป็นแนวคิดการบริหารจัดการกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ในทุกมิติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด โดย Green Logistics ไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ต้นทุน และการสูญเสีย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ตลอดจนป้องกันความเสี่ยงในการถูกกีดกันทางการค้าจากการที่ประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังนับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาไปสู่ Green Logistics นั้น เทคโนโลยีสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคโนโลยีต่างๆ นั้นสามารถนำมาพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ทุกกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าได้ตั้งแต่การนำ Data Analytics มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า การพัฒนา Automated Warehouse เพื่อการจัดการคลังสินค้าแบบอัตโนมัติที่ช่วยลดทั้งเวลา แรงงาน และพื้นที่ที่ช่วยให้การนำเข้า-จัดเก็บ-ส่งออกสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ Renewable Energy เพื่อทดแทนการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำ Route Optimization มาใช้คำนวณและเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการขนส่ง นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ Green Transportation โดยการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ในระยะยาวอีกด้วย

จากการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศพบว่าปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ได้นำแนวความคิด Green Logistics มาปรับใช้ในกิจกรรมการดำเนินงานอย่างจริงจัง เช่น Cainiao บริษัทในเครือของ Alibaba Group ที่บริหารจัดการโลจิสติกส์ด้วยระบบ Smart & Automated Warehouse โดยการนำเทคโนโลยี Big Data, AI , IoT รวมถึงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆ มาใช้ในการบริหารจัดการระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ หรือ โครงการ Go Green ของ DHL ที่ตั้งเป้าเปลี่ยนมาใช้รถ EV เป็นจำนวน 60% ของยานพาหนะทั้งหมด และยังตั้งเป้าการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels) ให้ได้มากกว่า 30% ภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังมีบริการ GoGreen Plus สำหรับลูกค้าในการเลือกใช้บริการขนส่งแบบพลังงานสะอาด เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนนั้น แรงสนับสนุนจากภาครัฐผ่านการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนอย่างจริงจังที่ครอบคลุมทั้งด้านการกระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการใช้เทคโนโลยี การกระตุ้นอุปทานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Green Logistics ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง