記事

2023 Logistics Trends

01/02/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายในงาน Seminar 2022 By Transport Journal ภายใต้หัวข้อ Thailand Seamless: Moving Forward & Go Green ซึ่ง หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ฟังในการบรรยายครั้งนี้ ได้แก่ แนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โลก ในยุคหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั่นเอง

ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสใช้พื้นที่นี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ 5 เทรนด์สำคัญที่จะเข้ามากำหนดทิศทางอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2023 ดังต่อไปนี้ค่ะ

(1) Digitalization, Data and Visibility ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดับโลกต่างนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล อุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่ และระบบสารสนเทศมาใช้ช่วยในการบริหารจัดการทำให้บริษัทสามารถเก็บข้อมูล ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถประมวลผลข้อมูลให้ได้ insight ทางธุรกิจ และยังเพิ่มการควบคุมและการมองเห็นข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Visibility) (2) Sustainable Shipping and Environment Regulation การร่วมลงนามในแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทำให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น หลายประเทศจึงทะยอยออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองก็มีความพยายามนำนวัตกรรมมายกระดับกระบวนการทำงานและธุรกิจให้พัฒนาไปตามแนวทางของความยั่งยืนและสอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม (3) Rising Diesel Prices สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนได้ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 55% ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่าน ด้วยสถานการณ์สงครามที่ยังคงยืดเยื้อทำให้น้ำมันดีเซลที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หรือ Logistics Operating Costs นั้นยังคงมีราคาที่สูง (4) Reshoring and Nearshoring for Manufacturers ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนนับเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการจัดส่ง (Shipping Costs) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จึงต่างหันกลับมาพิจารณาทางเลือกของการใช้แหล่งวัตถุดิบและ Supplier ในภูมิภาค ตลอดจนย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศของตนหรือประเทศใกล้เคียงเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งและความเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกระแสการโยกย้ายนี้ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงดำเนินต่อไป (5) Automation คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบอัตโนมัติ หรือ Automation และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง Artificial Intelligence, Machine Learning, Computer Vision, IoT และ Blockchain นั้นได้เข้ามามีบทบาทและช่วยให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจการขนส่งสินค้า (Transportation) และ ธุรกิจคลังสินค้า (Warehousing) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงาน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าได้อีกด้วย

ซึ่งภาคธุรกิจโลจิสติกส์ทั่วโลกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและต่างตื่นตัวในการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างจริงจัง รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ชั้นนำของไทยอย่าง WHA Group เองก็ได้นำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ ระบบ IoT, Automation และ Data Analytics มาช่วยเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังจะเห็นได้จากการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจพลังงานทดแทน และ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์สีเขียว เป็นต้น

การผลักดันของผู้ออกกฎหมาย ความต้องการของผู้บริโภค หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทหรือผู้ประกอบการโลจิสติกส์จึงควรคว้าโอกาสจากการส่งเสริมในช่วงเวลานี้เร่งปรับตัวรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการกำกับดูแลขั้นสูง อันจะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาวนั่นเอง