記事

B2B E-Commerce

21/09/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันนั้นมีการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของ DataReportal ที่ได้เปิดเผยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในปี 2021 รวมกว่า 4.66 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.5 ของประชากรโลกทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์กันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ตลาดการซื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce ทั่วโลก จึงมีการขยายตัวอย่างมาก ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเท่ากับร้อยละ 14.7 ระหว่างปี 2020 ถึงปี 2027 และมีมูลค่าตลาดรวมในปี 2020 เท่ากับ 10.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

จากมูลค่าตลาดของ E-Commerce ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จะพบว่า B2B E-Commerce มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า B2C E-Commerce ถึงสองเท่า หรือคิดเป็นสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 68 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อมหาศาลของผู้บริโภคฝั่งธุรกิจและการปรับพฤติกรรมของภาคธุรกิจที่หันมาทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก E-Commerce นั้นช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแสวงหาตลาด/ เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น บริหารจัดการผู้ผลิตและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าแบบเชิงลึกได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็นับเป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรม E-Commerce มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและยังเป็นเป้าหมายการลงทุนสำคัญของบริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่ ดังสะท้อนจากการเข้ามาทุนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจ E-Commerce ในภูมิภาคอาเซียนของ Alibaba Group และ JD.Com ผู้ให้บริการธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากประเทศจีน ซึ่งภาครัฐก็ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเร่งปรับใช้ E-Commerce ตลอดจนผลักดันให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรม E-Commerce อย่างบูรณาการ โดยพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิต การบริการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ เป็นต้น อันจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดจากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ E-commerce ของภูมิภาคได้นั่นเอง

ซึ่งภาคเอกชนเองก็ได้มีความพยายามในการเข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม E-Commerce ของไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นในเครือ WHA Group ที่ได้ลงทุนใน บริษัท มั่งมี อีคอมเมิร์ซ จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนา B2B E-Commerce แพลตฟอร์ม ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตสินค้า ตัวแทนจำหน่าย ผู้กระจายสินค้า ร้านค้าส่ง และร้านค้าปลีกทั่วประเทศให้สามารถซื้อขายกันอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถประสานรวมห่วงโซ่คุณค่าด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce value chain) เข้ากับระบบนิเวศด้านโลจิสติกส์ (Logistics ecosystem) ที่แข็งแกร่งของ WHA Group ไม่ว่าจะเป็นคลังสินค้าระดับพรีเมี่ยม ศูนย์กระจายสินค้า หรือระบบจัดการด้านการขนส่ง ที่ให้บริการโดย จิซทิกซ์ บริษัทสตาร์ทอัพด้าน E-Logistics ที่กลุ่มบริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นต้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า B2B E-Commerce จะกลายเป็นช่องทางการธุรกิจที่สำคัญในยุคดิจิทัล ช่วงเวลานี้ภาคเอกชนจึงควรเร่งเตรียมความพร้อมผ่านทางการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม E-Commerce  รวมถึงขยายขอบเขตการให้บริการใหม่ๆ ที่มีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในการปลดล็อค ข้อบังคับ กฎระเบียบ หรือมาตรการเชิงนโยบายต่าง ๆ (Regulatory) เพื่อเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม E-Commerce ของไทย อันจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวนั่นเอง