記事

WELLNESS TOURISM

20/04/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ผู้คนมีพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ให้ความความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ดีกันมากยิ่ง ซึ่งสถาบัน Global Wellness Institute ก็ได้รายงาน มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลกมีขนาดถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และคาดว่าจะมีการเติบโตถึง 7.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 เลยทีเดียว

เมื่อปลายปี 2021 ศูนย์วิจัย NielsenIQ ก็ได้เปิดเผยปัจจัยสำคัญที่กำลังมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคที่รัก/ ใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ดี ได้แก่ (1) Rapid Tech Adoption ผู้บริโภคมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ smart watch และ telemedicine ฯลฯ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น (2) Generation Shfit ที่กำลังส่งผ่านไปสู่ยุค Millennials และ GenZ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่คำนึงถึงแนวคิดความเป็นอยู่ดี (well-being), ความยั่งยืน (sustainability) และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-living) (3) New Normal Life ผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพแบบเชิงรุกกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ เวชศาสตร์ป้องกัน, อาหารสุขภาพ, การดูแลความงามส่วนบุคคลและศาสตร์ชะลอวัย กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก (4) Omni-connected Communities โลก on-line และ off-line สามารถเชื่อต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้เกิดการให้บริการรูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น smart clinics และ health & wellness communities ในโลกเสมือน (metaverse) เป็นต้น (5) Biological Technology การพัฒนาด้านทรัพยากรชีวภาพทำให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ตลอดจนแนวทางการรักษาโรคแบบใหม่ๆ อาทิ โปรตีนทางเลือก, อาหารสังเคราะห์ (lab-grown food), DNA testing ฯลฯ (6) AgTech Advancement เทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต อีกทั้งยังช่วยให้สามารถคินค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และถูกหลักโภชนาการ (7) Policy, Legislation and Governance ภาครัฐของหลายประเทศทั่วโลกต่างออกนโยบาย กฎ มาตรการ รวมถึงบทลงโทษต่างๆ เพื่อควบคุมให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทยเองภาครัฐก็ได้มีความพยายามในการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ EEC ที่มีบทบาทในการผลักดันธุรกิจการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่การเป็น Medical Hub ของภูมิภาคโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่และระบบการรักษาพยาบาลทางไกล เป็นต้น ตลอดจน ภาคเอกชนเองก็ได้ร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์สุขภาพ ตัวอย่างเช่น ชีวาศรม ซึ่งถือเป็นรีสอร์ทเพื่อสุขภาพแห่งแรกในเอเชียที่ให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้เข้าพัก นอกจากนี้ ยังมี RAKxa ซึ่งถือเป็นสถานที่พักผ่อนเชิงสุขภาพที่ได้นำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่และศาสตร์ด้าน Holistic Wellness มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการแพทย์แบบองค์รวมได้อย่างลงตัว เป็นต้น

แม้ประเทศไทยเองจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธุรกิจการรักษาพยาบาลที่ขึ้นชื่อโดยเฉพาะด้านสมุนไพรไทย สปา และการมีวัฒนธรรมที่สวยงามอันเป็นสิ่งดึงดูดผู้มารับบริการทางการแพทย์มายาวนาน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ควรเร่งนำเอาข้อได้เปรียบดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด อาทิ การสร้างเครือข่ายงานวิจัยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ การส่งเสริมการแพทย์แผนไทย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรไทย เป็นต้น ก็ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับสากล ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์สุขภาพจากทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ยังถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั่นเอง