記事

VOCATIONAL EDUCATION

30/03/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อกล่าวถึงปัญหาของตลาดแรงงานไทย หนึ่งในประเด็นหลักคงหนีไม่พ้นเรื่องการขาดแคลนแรงงานเชิงคุณภาพ เนื่องจากทักษะของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องการแรงงานอาชีวศึกษาที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จึงเกิดเป็นปัญหาการว่างงานขึ้นในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

โดยสาเหตุที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานไม่สอดคล้องกันนั้นเกิดจากคุณภาพของการเรียนการสอนและเนื้อหาหลักสูตรที่ยังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 รวมถึงค่านิยมทางสังคมที่ให้ค่าความสำคัญกับการเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ จึงทำให้คนส่วนมากนิยมเลือกเรียนสายสามัญที่เป็นการเรียนเชิงทฤษฎีมากกว่าเชิงปฏิบัติ โดยจากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ในปี 2561 มีจำนวนของนักเรียนสายสามัญศึกษาต่อสายอาชีวศึกษาในสัดส่วน 65:35 แต่หากพิจารณาถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากสายอาชีวศึกษานั้นจะมีสัดส่วนเหลือเพียงแค่ร้อยละ 24 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในอดีตขณะที่หลายประเทศมองข้ามการศึกษาสายอาชีพแต่ก็มีบางประเทศ อาทิเช่น เยอรมันที่ได้ชื่อว่ามีระบบอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสูงสุด รวมถึงประเทศในฝั่งทวีปเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญและกำหนดให้การพัฒนาอาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับความรู้และทักษะของบุคลากรสายอาชีวะที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรม จนทำให้ประเทศดังกล่าวมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงปัจจุบันอาชีวศึกษาก็ได้กลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยนอกจากความสำเร็จภายในประเทศแล้วการพัฒนาดังกล่าวยังถูกนำไปเป็นโมเดลต้นแบบของหลายประเทศอีกด้วย

จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ปัจจัยของความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ (1) การผลิตบุคลากรที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ประเทศเยอรมันที่มีการออกแบบหลักสูตรผ่านการระดมความคิดของทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการ (2) การพัฒนาทักษะจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เช่น การศึกษาแบบคู่ขนาน (Dual Education) ของประเทศเยอรมันที่เป็นการเรียนภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงาน (3) การพัฒนาทักษะความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น โปรแกรม Continuing Vocational Education Training (CVET) ของประเทศเยอรมัน และโครงการ SkillsFuture ของสิงคโปร์ ที่เป็นการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจในการออกแบบหลักสูตรระยะสั้นสำหรับแรงงานที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะการทำงานใหม่ๆ และ (4) การปรับทัศนคติที่มีต่ออาชีวศึกษา ผ่านการพัฒนาหลักสูตร เครื่องมือ รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและทำการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอาชีวศึกษานั่นเอง

สำหรับประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากการขับเคลื่อนโครงการ EEC เองก็มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินภารกิจด้านการผลิตบุคลากรวิชาชีพควบคู่ไปกันกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยที่ผ่านมาสำนักงาน EEC ก็ได้มีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่าน EEC Model ที่มีเป้าหมายให้บุคลากรก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยสถานประกอบการจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตร รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายและรับประกันการจ้างงานหลังจบการศึกษาอีกด้วย

ความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นความสำเร็จในการพัฒนาระบบการศึกษาและทักษะของบุคลากรจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านกับดักรายได้ปานกลางและก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงนั่นเอง