記事

Geopolitical Tensions

23/03/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม โลกยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยองค์กร World Economic Forum ได้แบ่งความเสี่ยงโลก หรือ Global Risks ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic Risks) ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Risks) ความเสี่ยงด้านสังคม (Society Risks) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological Risks) และ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงและเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายฝ่ายต่างมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมานั่นเอง

หากพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะพบว่าในปัจจุบันมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ตัวอย่างเช่น (1) สงครามการค้า หรือ Trade War ระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “จีน” ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความตึงเครียดในบรรยากาศการค้าโลก อีกทั้งยังได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกด้วยเช่นกัน โดยสงครามดังกล่าวก็ได้ลุกลามขยายขอบเขตไปสู่ Tech War ที่ยังคงมีความยืดเยื้อ (2) ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “จีน” และ “ไต้หวัน” ที่ประเทศจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีความพยายามจะรวมชาติให้ไต้หวันกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้ง ในขณะที่ไต้หวันเองต้องการจะเป็นประเทศเอกราชและมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวก็ได้ขยายผลไปสู่การกดดันทางการทหารที่เพิ่มมากขึ้น (3) ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ที่ประเทศเกาหลีใต้มุ่งหน้าเจรจาสันติภาพร่วมกับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตามเกาหลีเหนือเองยังคงเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธล้ำสมัย สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลียังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล (4) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และประเทศรัสเซีย ที่มียูเครนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง โดยรัสเซียได้เปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ผลักดันให้ประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เป็นต้น

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโลกนั้นมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันถึงกันมากยิ่งขึ้น ทำให้ ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tensions) ย่อมส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีล่าสุด คือ วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาน้ำมันและต้นทุนด้านวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก อะลูมิเนียม ตะกั่ว ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้นอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ก็ถือเป็นสิ่งกระตุ้นให้นักลงทุนโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังภูมิภาค/ประเทศที่มีศักยภาพอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งนี้ ประเทศไทยเองในฐานะฐานการผลิตและส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงย่อมได้รับอานิสงส์จากการโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุนนี้ด้วยเช่นกัน

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดบริษัทและนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนและแรงงานชาวไทยเองก็ควรยกระดับคุณภาพสินค้าผ่านทางการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้และพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายของการผลิตและการลงทุนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง