記事

ESG TRENDS

16/03/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันความยั่งยืนได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในกระแสการพัฒนาของสังคมโลก นักลงทุนจึงต่างเล็งเห็นว่า การให้ความสำคัญกับผลประกอบการของธุรกิจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงมิติอื่นๆ ด้วย โดยประเด็นด้าน ESG ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่นักลงทุนใช้ในการพิจารณาการลงทุน ด้วยแนวคิดที่ว่าธุรกิจต้องขับเคลื่อนบนหลักความสมดุลและคำนึงถึงความรับผิดชอบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) จึงจะส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เมื่อนักลงทุนให้ความสนใจกับธุรกิจที่ยึดมั่นในหลัก ESG บริษัทจึงต่างปรับตัวจน ESG กลายเป็นเทรนด์ระดับโลกที่ทุกธุรกิจจับตามอง

โดยล่าสุดบริษัทจัดทำดัชนีหุ้นชั้นนำของโลก Morgan Stanley Capital International (MSCI) ได้สรุป 10 แนวโน้มสำคัญของ ESG ไว้ในรายงาน 2022 ESG Trends to Watch ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจมาพูดถึงในวันนี้ ดังนี้ค่ะ

(1) ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Amazon Effect เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon รวมถึงบริษัทชั้นนำระดับโลกอื่นๆ เช่น Microsoft, Alphabet, Alibaba ฯลฯ ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิด Net-Zero Supply Chains ที่ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานต้องหันมาให้ความสนใจและปรับตัวตาม Private-Company Emissions Under Public Scrutiny ปัจจุบันมีเพียงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานตามแนวคิด ESG แต่หลังจากนี้บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนจะเริ่มถูกขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษเช่นกัน No Planet B จากการคาดการณ์ว่าปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรงจะยังคงเกิดขึ้น แม้ว่ามีการร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อนอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วก็ตาม ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bonds) ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากทุกคนตระหนักดีว่าเราไม่มีโลกใบที่สองไว้สำรอง

(2) หลักการทำงานของ ESG

Regulation at a Crossroads: Convergence or Fragmentation? เนื่องจากปัจจุบันมาตรฐานการลงทุนแบบยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบซึ่งสร้างความสับสนให้กับนักธุรกิจและนักลงทุน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการร่วมกันกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลการลงทุนอย่างยั่งยืน

(3) โอกาสและความเสี่ยง

Biodiversity and the Future of Food ปัญหาสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรต้องเร่งปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

เมื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ประเทศไทยเองก็ได้มีการตอบรับกับแนวทางของโลกเป็นอย่างดี สำหรับโครงการ EEC ก็มีการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างสมดุลมาปรับใช้เช่นกัน ดังเห็นได้จากวัตถุประสงค์ของการพัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นให้ EEC เป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักลงทุน รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุม ซึ่งกลุ่มบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของไทยนั้นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเกือบ 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของมูลค่าตลาดรวมเลยทีเดียว

แนวคิด ESG ไม่ได้เป็นแค่เพียงกระแสชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและใหญ่ควรเริ่มคำนึงถึงการปรับตัวโดยนำปัจจัยด้าน ESG มาผนวกเข้ากับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระยะยาวนั่นเอง