記事

ENERGY TRANSITION

02/03/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ที่วิวัฒนาการของเทคโนโลยีพลังงานเริ่มต้นขึ้น มนุษย์มีการนำพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ มาใช้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการผลิต จนปัจจุบันพลังงานกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน และเมื่อการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา ทั่วโลกจึงเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและหันมาให้ความสนใจกับการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ฯลฯ มากขึ้น โดยพลังงานทดแทนนี้จะเป็นทางออกที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินควบคู่ไปกันกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้และจึงเกิดเป็นแนวคิดของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่เป็นการนำพลังงานสะอาดมาทดแทนแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานที่จะเกิดขึ้นในช่วง 30 ปีจากนี้จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 90 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

จากรายงานดัชนี Energy Transition Index (ETI) ปี 2021 ของ World Economic Forum (WEF) พบว่า 92 ประเทศจากทั้งหมด 115 ประเทศ มีคะแนนเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานทดแทนและการส่งเสริมให้พลังงานทดแทนมีต้นทุนที่ถูกลง โดยประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และไอซ์แลนด์ ซึ่งเห็นได้ว่าจำนวนครึ่งหนึ่งนั้นมาจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เมื่อศึกษาเพิ่มเติมพบว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีแผนการทำงานที่สนับสนุนเป้าหมายการเป็น Net Zero Emission ภายในปี 2050 อย่างจริงจัง โดยกำหนดแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างน้อยร้อยละ 55 ในปี 2030 ผ่านมาตรการทางภาษีและข้อบังคับต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียง EU ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศต่างก็ตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน อาทิ การลงนามกลับเข้าสู่ความตกลงปารีสของสหรัฐอเมริกา หรือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ของจีนที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจากร้อยละ 16 ในปี 2021 เป็นร้อยละ 20 ของการผลิตพลังงานทั้งหมด เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงานก็ได้มีกำหนดทิศทางแผนการดำเนินงานภายใต้มิติ "Collaboration for Change: C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด จับมือพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" โดยมุ่งเน้นการปรับบทบาทเพื่อก้าวสู่ยุค Energy Transition ผ่านการปลดล็อกกฎระเบียบและการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา และด้วยแนวทางของภาครัฐก็ได้ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในภาคธุรกิจเช่นกัน อาทิ บริษัท WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WHA Group เองก็ได้มีความพยายามในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทดแทน ตัวอย่างเช่น โครงการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมพลังงานอย่างการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน (Peer-to-Peer Energy Trading) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความกังวัลต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่อาจปฏิเสธได้นั้น การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานทดแทนซึ่งจะเปลี่ยนแปลงภาพของอุตสาหกรรมพลังงานไปอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง