記事

US-CHINA DECOUPLING (2)

05/05/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในงานเขียนชุด US-China Decoupling ฉบับก่อนหน้านี้ เราได้คุยถึงประวัติศาสตร์และการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประเทศมหาอำนาจของโลกในยุคต่างๆ กันไปแล้ว สำหรับอาทิตย์นี้ ผู้เขียนก็จะมาชวนคุยต่อถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ผลกระทบ แนวโน้มสถานการณ์ รวมถึงโอกาสของประเทศไทยจากเหตุการณ์ครั้งนี้กันค่ะ

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ประเทศจีนก็เติบโตเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงภายในระยะเวลาไม่กี่ทศวรรษทำให้จีนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญที่กำหนดทิศทางการแข่งขันของโลกใหม่ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมๆ กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศผ่านการขยายบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความถดถอยทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการว่างงาน ภาวะหนี้สิน รวมถึงปัญหาสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำ การแบ่งขั้วทางการเมือง ภัยผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็ต้องการคงสถานะความเป็นประเทศมหาอำนาจและเริ่มจับตามองจีนนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาที่แม้ว่าจะไม่ได้มีการกำหนดมาตรการแข่งขันหรือกีดกันอย่างเป็นรูปธรรมแต่ก็มีความพยายามพัฒนาความร่วมมือภายใต้ข้อตกลง TPP ที่จีนไม่ได้เข้าร่วม รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านนโยบายต่างประเทศที่เป็นมิตรและเปิดกว้าง จนกระทั่งปี 2018 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สหรัฐฯ ประกาศทำสงครามการค้า (Trade War) กับจีนอย่างเปิดเผยและในที่สุดก็ขยายผลไปสู่สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ที่ทำให้เกิดการตรวจสอบ ข้อกล่าวหาการละเมิดลิขสิทธิ์และการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ตลอดจนการ Blacklist บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน เช่น Huawei, Xiaomi และอื่นๆ อีกจำนวนมากเพราะกังวลว่าจีนจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานทางเทคโนโลยีระดับโลกที่จะส่งผลต่ออำนาจทางการเมืองและความสามารถในการกำหนดระเบียบของโลกใหม่ต่อจากนี้

การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังดำเนินต่อไปภายใต้รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีไบเดน เมื่อประกอบกับภาวะห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงในเมืองอุตสาหกรรมหลักของจีนก็เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้บริษัทสัญชาติต่างๆ เริ่มพิจารณาปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของตนเพื่อกระจายความเสี่ยงโดยการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) หรือการปรับห่วงโซ่การผลิตให้มาอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) รวมถึงการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวยุทธศาสตร์ China Plus One มากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเกิด disruption ครั้งใหญ่ ช่วงเวลานี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ฯลฯ ร่วมกับการส่งเสริมความรู้ความสามารถของทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลที่นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานชาวไทยมีความพร้อมรับการลงทุนใหม่หรือการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศแล้วยังเป็นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าและบริการของไทยให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของโลกใหม่ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าการตอบโต้และการต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจในการกำหนดระเบียบโลกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะออกมาในรูปแบบใด ผู้เขียนก็ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าประเทศไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจและต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ค่ะ