記事

IOT BUSINESS PLATFORM

14/08/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

IoT เป็นหนึ่งใน Exponential Technology ที่เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนเองก็ได้รับเชิญไปเป็น Speaker สำหรับ Panel Discussion หัวข้อ “Maximizing Return on Capital Across the Supply Chain” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Asia IoT Business Platform งานประชุมเทคโนโลยี IoT สำหรับองค์กรชั้นนำที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้พบปะหารือถึงโอกาสการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น

จากการคาดการณ์ของ IDC ในปี 2568 จะมีอุปกรณ์ที่ถูกเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากกว่า 40,000 ล้านเครื่องและเกิดการหมุนเวียนของข้อมูลถึง 79.4 Zettabytes (1 ZB เท่ากับ 1 ล้านล้าน Gigabyte ) ปัจจุบัน IoT จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันรวมถึงถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวก เครื่องมือสื่อสาร ระบบขนส่ง ระบบภายในอาคารบ้านเรือน ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการของอุตสาหกรรมต่างๆ

ทั้งนี้จากการพูดคุยผู้เขียนพบว่า บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้กับธุรกิจของตน ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บโดย IoT สามารถนำมาต่อยอดโดยการใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์จึงทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านต้นทุนและจำนวนพนักงานที่น้อยลง ระยะเวลาที่รวดเร็ว และการควบคุมคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเมื่อนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ IoT มาพัฒนาร่วมกันก็จะสามารถสร้างเครื่องจักรอัจฉริยะที่สามารถทำงานแบบ real-time อาทิเช่น รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

นอกจากนั้นภายในบริเวณงานยังมีการนำเสนอเทคโนโลยี IoT ที่ทันสมัยโดยผู้ผลิตและผู้ให้บริการชั้นนำโดยเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตอนนี้ คือ Narrowband (NB)-IoT ที่เป็นมาตรฐานของระบบโครงข่ายที่ใช้พลังงานต่ำ (Low Power Wide Area Network) ทำให้ NB-IoT มีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและในขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานที่น้อยจึงส่งผลให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ NB-IoT ยาวนานนับ 10 ปีเลยทีเดียว

คุณสมบัติดังกล่าวจึงทำให้ NB-IoT กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ของ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงช่วยจัดเก็บข้อมูลที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์และต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ในอนาคตได้ อาทิเช่น อุปกรณ์ Smart Metering สำหรับการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าหรือน้ำ Smart Tracking สำหรับติดตามตัวบุคคลหรือยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดของโครงการ EEC เองก็ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองอัจฉริยะต้นแบบทั้ง 7 ด้าน อันได้แก่ (1) Smart Economy, (2) Smart Mobility, (3) Smart Energy, (4) Smart Living, (5) Smart People, (6) Smart Governance และ (7) Smart Environment ร่วมกับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa วางแผนให้เกิดการพัฒนาตาม Roadmap ที่จะขยาย Smart City ไปทั่วทั้งประเทศภายใน 5 ปีนี้

ทุกวันนี้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้การดำรงชีวิตและการทำงานของเรามีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนั้นเปรียบเสมือนกับดาบสองคมซึ่ง IoT เองก็ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันเป็นวงกว้างและก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ การเตรียมความพร้อมและการเฝ้าระวังเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามจึงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ควรละเลยและต้องพิจารณาควบคู่ไปกับประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วยเช่นกัน