記事

เศรษฐกิจการประมง

31/07/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อาชีพการประมงเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหารทะเลมากกว่า 3 ล้านตันต่อปีโดยมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมการประมงของไทยสูงกว่า 1 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมการประมงจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการเป็นแหล่งอาหารสำหรับประชากรในประเทศ แหล่งการจ้างงาน สร้างรายได้และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการปรับตัวให้ก้าวทันกับอุปสงค์ที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการประมงของไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม

เนื่องจากพื้นที่ของโครงการ EEC ครอบคลุมทะเลฝั่งอ่าวไทยตะวันออกซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม โครงการ EEC จึงกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลและการบริหารการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลที่เป็นแผนงานย่อยภายใต้แผนการพัฒนาของโครงการ EEC ก็จะทำให้จังหวัดชลบุรีและระยองมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในฐานะเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลและเกาะที่สวยงาม ตลอดจนการเป็นแหล่งอาหารทะเลที่หลากหลายมีหมู่บ้านชาวประมงและชุมชนเมืองเก่าที่ยังอนุรักษ์ไว้สำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม

เป้าหมายของการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตพื้นบ้านจึงเป็นการนำเรื่องราวของประเพณีและอัตลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่และผู้คนมาถ่ายทอดจูงใจให้นักท่องเที่ยวและกลุ่มคนที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เดินทางเข้ามาในพื้นที่และสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ซึ่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบขนส่งจากสนามบินอู่ตะเภาหรือรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงกับท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ก็จะช่วยเปิดศักยภาพของเกาะต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณโดยรอบให้สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่เมืองอย่างสะดวก ปลอดภัยและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นความช่วยเหลือด้านนโยบายและงบประมาณสนับสนุนการวิจัยพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) ก็จะสามารถนำมาใช้ในการยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยอันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงรุกอีกด้านหนึ่ง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวและยังช่วยประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงอาหารไทยให้ขยายออกไปสู่ระดับสากลอีกด้วย

ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทในการจัดการท่องเที่ยวและเป็นผู้ให้บริการซึ่งแตกต่างจากการท่องเที่ยวกระแสหลักที่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จึงทำให้เม็ดเงินที่เกิดจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ตกสู่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง

อุตสาหกรรมการประมงสมัยใหม่จึงเป็นการผสมผสานการประมงและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกันอย่างลงตัวโดยยึดหลักการไม่เปลี่ยนแปลงวิถีดั้งเดิมและไม่สร้างผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงให้เกิดเป็นเศรษฐกิจการประมงที่มีการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง