記事

TECH WAR

24/07/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ช่วงที่ผ่านมาหากพูดถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกหลายฝ่ายคงนึกถึง Trade War หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งปัจจุบันลุกลามขยายขอบเขตไปจนกลายเป็น Tech War หรือสงครามเทคโนโลยีสืบเนื่องจากประเด็นสหรัฐฯ แบนหัวเว่ยที่แม้ว่าหากมองผิวเผินจะเป็นเรื่องราวของวงการสมาร์ทโฟนแต่ที่จริงแล้วกลับแฝงนัยยะมากไปกว่านั้น

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือสำหรับเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพียงเท่านั้นแต่ยังเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่หลายประเทศต่างนำมาใช้เพื่อสร้างรายได้ทดแทนปัจจัยการผลิตและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือประเทศจีนกับนโยบาย Made in China 2025 ที่รัฐบาลจีนได้กำหนดแผนการเชิงรุกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตนในระยะหลายปีที่ผ่านมา

จากรายงาน Annual Internet Trends Report โดย Venture Capitalist แมรี มีคเกอร์ (Mary Meeker) ซึ่งเปิดเผยผลการจัดอันดับมูลค่าตลาดของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกพบว่า ในปี 2556 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 20 อันดับแรกประกอบไปด้วยบริษัทจากสหรัฐฯ 13 บริษัท จีน 3 บริษัท ญี่ปุ่น 2 บริษัท และสัญชาติอื่นๆ อีก 2 บริษัท อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับอีก 5 ปีต่อมาหรือในปี 2561 พบว่า บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 20 อันดับแรกยังประกอบไปด้วยบริษัทจากสหรัฐฯ จำนวน 12 บริษัท แต่บริษัทจากประเทศจีนกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนมีถึง 8 บริษัทเลยทีเดียว

ความพยายามที่ผ่านมาทำให้ปัจจุบันประเทศจีนกลายมาเป็นผู้เล่นที่ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยเฉพาะการที่ประเทศจีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายฝ่ายประเมินว่าจีน (ผ่านทางบริษัทหัวเว่ย) พัฒนาจนเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนเป็นสาเหตุทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจออกมาตรการสกัดกั้นเพื่อไม่ให้จีนครอบครองส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในตลาดโลกจนสามารถสร้าง Competitive Landscape สำหรับ Ecosystem ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมหรือบริษัทต่างๆ ที่เริ่มนำ Exponential Technology อาทิ หุ่นยนต์ IoTs ฯลฯ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตตามแนวคิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อันเป็นปัจจัยเร่งให้ตลาด 5G เติบโตจนในอนาคตอาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของตลาดคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำมาอย่างยาวนาน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตและส่งออกของภูมิภาคที่แม้ว่าจะส่งผลทางด้านลบต่อปริมาณความต้องการวัตถุดิบหรือสินค้าต่างๆ อาทิ ยางพารา IC รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประเทศไทยส่งออกลดลง แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลด้านบวกผ่าน Trade Diversion และ การย้ายฐานการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้า Hi-Tech ต่างๆ เป็นต้น

ช่วงเวลานี้จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่สำคัญเนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกค่อนข้างมาก ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐที่จำเป็นต้องเร่งเจรจาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดบริษัทและนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเอกชน อาทิ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในฐานะตัวกลางที่ให้บริการและติดต่อกับผู้ลงทุนโดยตรง ตลอดจนผู้ประกอบการและแรงงานชาวไทยที่ต้องยกระดับคุณภาพสินค้าและฝีมือแรงงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายของการผลิตและการลงทุนในระยะยาวภายใต้สถานการณ์ที่มหาอำนาจที่มีจุดยืนที่แตกต่างกันกำลังช่วงชิงความเป็นผู้ชนะจนกลายเป็นแรงสะเทือนไปทั่วทั้งโลกเช่นนี้