Articles
INVESTMENT RELOCATION
16/11/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์การค้า/ การลงทุนทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงสงครามรัฐเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ การขาดแคลนอาหาร วิกฤตพลังงาน และ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ เป็นต้น ประกอบกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ล้วนก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ นักลงทุน/ นักธุรกิจจึงต่างมีความต้องการที่จะโยกย้ายฐานทุนและฐานการผลิตบางส่วนไปยังภูมิภาคที่มีความพร้อมเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง
ในปี 2021 องค์กร UNCTAD ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุนโดยตรง (FDI) ทั่วโลกเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อนหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวด้านการลงทุนภายหลังจากวิกฤต COVID-19 ได้เป็นอย่างดี หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ภูมิภาคที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นภูมิภาคเอเชีย ดังสะท้อนจากยอด FDI ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียกว่า 619 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 40% ของมูลค่า FDI โลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลสู่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 175 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นการเติบโตถึง 44% จากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว
ประเทศไทยเองถือเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบครัน ระบบสาธารณูปโภคที่มั่นคง แรงงานที่มีทักษะ และต้นทุนทางการดำเนินธุรกิจยังไม่สูงมากนัก เพื่อคว้าโอกาสจากความได้เปรียบเหล่านี้ ภาครัฐจึงมุ่งดึงดูดนักลงทุนและบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการขยายการลงทุน/ ฐานการผลิตเข้ามาในประเทศผ่านทางการให้สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมต่างๆ และยังได้พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง เพื่อผลักดันให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ อันจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นจุดหมายของการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคนั่นเอง ด้วยความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศมีแนวโน้มที่ลดลงจาก 14.0% (2020), 13.8% (2021) และคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในช่วง 12.9%-13.3% (2022)
ทั้งนี้ ผู้เขียนในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวกลางที่ให้บริการและติดต่อกับนักลงทุนโดยตรง ก็ได้เห็นกระแสการเคลื่อนย้ายฐานทุนและฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ความเชื่อมั่นของผู้นำตลาด E-Commerce ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนอย่าง Alibaba Group และ JD.Com ที่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจ E-Commerce ของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมี BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV แห่งแรกในอาเซียนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 โดยได้ตั้งเป้ากำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าไว้ถึง 150,000 คันต่อปีเลยทีเดียว
แม้การขยายการลงทุน/ ธุรกิจของบริษัทข้ามชาติเข้ามาในประเทศจะเป็นเครื่องตอกย้ำจุดแข็งของไทยในฐานะศูนย์กลางด้านการลงทุนและการผลิตของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ไม่ได้อยู่นิ่งและต่างปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการประกอบการในด้านต่างๆ ประเทศไทยจึงควรเร่งต่อยอดความได้เปรียบของระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ศึกษา/ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงยกระดับแรงงานชาวไทยที่ให้มีฝีมือแรงงานที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถรองรับและคว้าโอกาสจากการเคลื่อนย้ายฐานทุนและฐานการผลิตมาสู่ภูมิภาคนี้ได้ในระยะยาวนั่นเอง