Articles
MASSIVE OPEN ONLINE COURSE
20/05/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
MOOC หรือ Massive Open Online Course เป็นบริการทางการศึกษารูปแบบใหม่ผ่าน Internet Platform จึงทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัด MOOC จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเป็น Disruption ในอุตสาหกรรมการศึกษาด้วยรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน หรือแม้กระทั่งการเรียนทางไกล หรือ E-Learning แบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องดำรงชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางกายภาพแต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเปิดรับและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น MOOC จึงเป็นรูปแบบการบริการทางการศึกษาที่เหมาะสมและสามารถตอบโจทย์ผู้เรียนภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก MOOC เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อรวบรวมรายวิชาจากผู้สอนและสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในศาสตร์ต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงสามารถเข้าถึงและรองรับผู้เข้าเรียนจากทั่วโลกได้อย่างไม่จำกัดผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสำหรับทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพา เช่น แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน เป็นต้น
ตัวอย่าง MOOC ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศได้แก่ (1) edX หรือ edx.org ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือโดยไม่หวังผลกำไรระหว่างมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT ที่ปัจจุบันมีหลักสูตรมากกว่า 2,400 หลักสูตร และผู้ลงทะเบียนมากกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก (2) Coursera หรือ Coursera.org แพลตฟอร์มชื่อดังที่ถูกก่อตั้งโดยคุณ Andrew Ng และ Daphne Koller ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford โดยหลักสูตรของ Coursera นั้นมีความทันสมัยและครอบคลุมหัวข้อตั้งแต่ Machine/ Deep Learning, Programing, AI ไปจนถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุขภาพและจิตวิทยา และ (3) Udemy ที่มาในแนวคิด The Academy of You ตัวกลางที่เชื่อมโยงผู้สอนและผู้เรียนอิสระเข้าด้วยกันโดยปัจจุบัน Udemy มีจำนวนผู้เรียนรวมกันมากกว่า 30 ล้านคน และมีหลักสูตรให้บริการกว่า 130,000 หลักสูตรที่ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ ความบันเทิง การเสริมสร้างทักษะต่างๆ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนา thaimooc.org ที่ปัจจุบันมีหลักสูตรเปิดสอนแล้วกว่า 300 รายวิชา รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ของไทยก็ตอบรับกระแส Online หรือ Digital Learning เป็นอย่างดี อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula MOOC), ธรรมศาสตร์ (Gen Next Academy), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU MOOC), มหาวิทยาลัยมหิดล (MU MOOC) เป็นต้น ที่ต่างมีจำนวนหลักสูตรและยอดผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นมา
อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษานับเป็นหนึ่งใน 10+2 อุตสาหกรรมหลักที่โครงการ EEC มุ่งให้การส่งเสริมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งความสามารถด้านความรู้ที่เป็น Hard Skills ไปจนถึงทักษะการปฏิสัมพันธ์ หรือ Soft Skills ต่างๆ ซึ่งการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมเป็นวงกว้างให้บุคลากรและนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสมัครใช้งานหลักสูตรของ MOOC ทั้งไทยและต่างประเทศ ก็จะเป็นการสนับสนุนให้แรงงานไทยเข้าถึงหลักสูตรคุณภาพที่มีเนื้อหาทันสมัย เปิดกว้าง ต้นทุนไม่สูง ตลอดจนมีความหลากหลายและสามารถบริหารจัดการได้อย่างยืดหยุ่นสอดคล้องกับตารางเวลาของแต่ละบุคคลร่วมกับการเรียนรู้แบบ Classroom และ On the job ดั้งเดิมที่จะช่วยพัฒนาฝีมือและทักษะทางสังคมอื่นๆ
MOOC จึงเป็นเหมือนสถาบันการศึกษาออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่และจะกลายเป็นอีกหนึ่งพลังบวกของวงการศึกษาที่ช่วยเพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเป็นแหล่งวิชาความรู้ให้ผู้ที่ใฝ่เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจนเกิดเป็น Lifelong Learning แห่งยุคศตวรรษที่ 21 นั่นเอง