Articles

CBAM: ภาษีคาร์บอน

04/03/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ของสหภาพยุโรปเป็นหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2021 EU ได้ผ่านข้อตกลง European Green Deal ที่จำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของประเทศสมาชิกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 รวมถึงพัฒนาระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (EU Emission Trading System) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ปล่อยคาร์บอนสูงเกินกว่าที่ EU กำหนดสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ประกอบการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเกณฑ์และนำมาชดเชยคาร์บอนส่วนเกินได้ (Cap and Trade)

อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวก็ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศสมาชิกในกลุ่ม EU สูงขึ้น และเกิดเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศนอก EU ที่ไม่มีมาตรการด้านคาร์บอน หรือเข้มงวดน้อยกว่าแล้วค่อยส่งสินค้ากลับมาจำหน่ายใน EU อีกครั้งจนเกิดการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) ขึ้น

สหภาพยุโรปจึงกำหนดให้มี CBAM หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนเพื่อปรับสนามการแข่งขันในส่วนการแบกรับต้นทุนค่าปรับคาร์บอนระหว่างผู้ผลิตท้องถิ่นกับคู่แข่งจากต่างประเทศให้เสมอภาคกัน รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือกำหนดราคายุติธรรมของคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าที่จำหน่ายภายใน EU ทั้งนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายระยะแรกของ CBAM ประกอบด้วยกลุ่มซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม และไฮโดรเจน โดยแบ่งช่วงเวลาการบังคับใช้ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะเปลี่ยนผ่าน (ต.ค. 2023 – ธ.ค. 2025) ผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมายจะต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emission) ที่ได้รับการรับรองโดยผู้สอบตามหลักเกณฑ์ของ CBAM แต่จะยังไม่ต้องซื้อ CBAM Certificate (เทียบเท่าค่าปรับ) (2) ระยะบังคับใช้เต็มรูปแบบ (ม.ค. 2026 เป็นต้นไป) ในกรณีสินค้านำเข้ามีปริมาณการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าเกณฑ์ที่ EU กำหนด ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ CBAM Certificate เพื่อชดเชยส่วนต่างดังกล่าว แต่หากพิสูจน์ทราบว่าสินค้านำเข้าได้ชดเชยคาร์บอนที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตตามกระบวนการหรือกลไกตลาดที่ CBAM กำหนดหรือรับรองมาตรฐานแล้วก็จะสามารถนำต้นทุนมาหักออกจาก CBAM Certificate ที่ต้องซื้อได้

แม้ว่าในระยะเริ่มต้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจาก EU ไม่ได้เป็นตลาดหลักของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้ากลุ่มเป้าหมายของ CBAM แต่ภายหลังจากปี 2026 EU ก็มีแผนที่จะพิจารณาประเภทอุตสาหกรรมเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณากำหนดเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงกระบวนการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม อีกทั้งประเทศอื่นๆ อาทิ สหรัฐฯ ก็มีการพิจารณาร่างกฎหมาย FAIR Transition and Competition Act (FTCA) และ Clean Competition Act (CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนสำหรับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ และมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (US-CBAM) สำหรับกลุ่มสินค้านำเข้าที่ใช้พลังงานเข้มข้น (Energy-intensive import) เช่นกัน

ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งการติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นทะเบียน ตรวจวัด จัดทำรายงาน และทวนสอบการปล่อยคาร์บอน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการเลือกใช้พลังงานสะอาด ฯลฯ ในขณะที่ภาครัฐก็สามารถเพิ่มบทบาทผู้สนับสนุนการลดต้นทุน CBAM ด้วยกลไกในประเทศ  อาทิ การผลักดันโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (T-VER) และกลไกคาร์บอนอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ CBAM รับรอง หรือการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ให้บริการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification) ตามมาตรฐานของ CBAM ภายในประเทศ ตลอดจนการกำหนดมาตรการจูงใจและบังคับใช้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และผลักดันให้ทุกภาคส่วนดำเนินการควบคุมการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นในระยะยาว