Articles

HYPERAUTOMATION

13/03/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเทคโนโลยี Automation ถือเป็นเทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมาได้รับการกล่าวถึงและถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอุตสาหกรรม

เนื่องจากเทคโนโลยี Automation นั้นได้ถูกพัฒนาจากการผสมผสานและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูงหลายชนิด อาทิ Robotic Process Automation (RPA), No/ Low-Code, Machine Learning (ML) และ Artificial Intelligence (AI) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเบื้องหลังเหล่านี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ เทคโนโลยี Automation เองสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมในอดีต พร้อมทั้งยังทำงานได้อย่างละเอียด แม่นยำ และ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ความก้าวหน้านี้จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุค Hyperautomation ในอนาคตนั่นเอง

ทั้งนี้ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ได้ให้นิยาม Hyperautomation ไว้ว่าเป็นแนวทางธุรกิจอย่างเป็นระบบที่องค์กรใช้ในการค้นหา คัดเลือก รวมถึงพัฒนาขั้นตอนทางธุรกิจและ IT ให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหลายองค์กรได้นำเอาแนวทางนี้มาช่วยขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาช่วยบุคลากรในงานที่มีขั้นตอนซ้ำๆ และต้องใช้เวลามาก ทำให้บุคลากรสามารถทุ่มเทเวลาให้กับงานที่มีคุณค่า/ สร้างประโยชน์ต่อองค์กรได้มากกว่า ในขณะเดียวกัน องค์กรก็สามารถลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นไปพร้อมๆ กัน โดย Gartner ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าทางการตลาดของ Hyperautomation-enabling software จะมีมูลค่าสูงถึง 720 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2023 เลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้มีความพยายามในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การส่งเสริมและสิทธิพิเศษทางภาษี/ การลงทุน การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้เปิดเผยว่า ในปี 2565 มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น โดยมียอดคำขออยู่ที่ 10 โครงการ เป็นมูลค่าเท่ากับ 1,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 670 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มียอดคำขออยู่ที่ 10 โครงการ เป็นมูลค่าเท่ากับ 1,120 ล้านบาท อันเป็นผลหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่มีการการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้กระตุ้นให้มีการปรับใช้และลงทุนในระบบอัตโนมัติมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ EEC ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ฐานการผลิตสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ  ซึ่งโครงการ EEC ก็ได้มีความร่วมมือกับบริษัทภาคเอกชนในการจัดตั้ง EEC Automation Park ที่มีมุ่งผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็น Smart Factory ด้วยการติดตั้งเครื่องจักรและการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทำให้สามารถประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้อีกด้วย

Hyperautomation นับเป็นตัวอย่างของเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและมีส่วนชี้วัดความสำเร็จของประเทศในระยะยาว ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ รวมถึงจับตามองพัฒนาการและเทรนด์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและคว้าโอกาสได้อย่างทันท่วงที อันจะช่วยให้ประเทศไทยยกระดับไปสู่การเป็นประเทศโลกที่หนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริงในระยะยาว