Articles

BUSINESS OUTLOOK & INVESTMENT TRENDS

27/02/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนและความท้าทายจากทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อ สภาพเศรษฐกิจถดถอย ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ปี 2566 นี้เป็นอีกปีที่เรายังคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายภายใต้สถานการณ์โลกที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสช่วงต้นปีเช่นนี้มาพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้ค่ะ

(1) ภาวะการส่งเสริมการลงทุนของไทยปี 2565

มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2,119 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 6.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากปี 2564 โดยเป็นยอดขอรับการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมกันทั้งสิ้นกว่า 4.7 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร สำหรับยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่า 4.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน (17.8%) รองลงมาคือ ญี่ปุ่น (11.7%) และสหรัฐอเมริกา (11.6%)

จากยอดขอรับการส่งเสริมและ FDI ที่มีการขยายตัวในช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวด้านการลงทุนภายหลังจากวิกฤต COVID-19 อีกทั้งยังตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานทุนและฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีการกระจายตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานให้มีความทนทานและสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างรวดเร็ว

(2) แนวโน้มและเหตุการณ์สำคัญปี 2566

ภายใต้สถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้เขียนมองว่ามีโอกาสและความท้าทายที่สามารถสรุปเป็นประเด็นหลักได้ดังนี้ (1) Post COVID Relaxation & Reopening Policy การผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และการเปิดประเทศของจีนจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนซึ่งเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก (2) Geopolitical Tension ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคยังคงยืดเยื้อและสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้นักลงทุนโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังภูมิภาค/ประเทศที่มีศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (3) Technologies เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทรงพลัง เช่น AI, Quantum Computing ฯลฯ จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้น และ(4) Sustainability การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศทั่วโลก รวมถึงความคาดหวังของนักลงทุน ตลอดจนค่านิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดบรรทัดฐานใหม่สำหรับภาคธุรกิจที่นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จากภาพรวมแนวโน้มและเหตุการณ์สำคัญของโลกข้างต้น ผู้เขียนมองว่าทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนของไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและเงินทุนที่จะทยอยเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องภายหลังการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกนั่นเอง