Articles

ARTIFICIAL INTELLIGENCE

13/02/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

แม้ Artificial Intelligence (AI) จะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานานหลายสิบปี แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สวนทางกับต้นทุนทำให้หน่วยความจำและพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ราคาลดต่ำลงเรื่อยๆ จึงเป็นปัจจัยเร่งการพัฒนาของ AI ให้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

ด้วยศักยภาพของ AI ที่สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจได้ในหลายมิติ ทั้งด้านการยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการเพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจากการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ จึงทำให้ AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ในการช่วยแพทย์ให้วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับให้สามารถวิเคราะห์เส้นทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวางเพื่อการขับขี่อย่างสมบูรณ์แบบ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในการวางแผนเส้นทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนและเวลาจัดส่ง เป็นต้น

นอกเหนือจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและประมวลผลดังกรณีข้างต้น อีกเทรนด์สำคัญของการพัฒนา AI ในปัจจุบันที่สร้างความสนใจให้ทั่วโลกต้องจับตามองคงหนีไม่พ้น Generative AI ที่ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการสร้างข้อมูลใหม่จากชุดข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจากการเปิดตัวของหลายเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นของ Generative AI ในการสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ๆ อาทิ Midjourney ที่วาดรูปจากคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้ระบุได้อย่างรวดเร็วและมีความสมจริง หรือ ChatGPT แชทบอทจาก OpenAI ที่โต้ตอบสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังมีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนอย่างการเขียนโปรแกรม การเขียนบทความ ฯลฯ หรือ MusicLM จาก Google ที่เขียนเพลงจากเสียงหรือข้อความ เป็นต้น

เมื่อ AI ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้ หลายประเทศจึงต่างให้ความสนใจกับการพัฒนา AI เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่บริษัท Tech Giant ชั้นนำต่างก็พยายามพัฒนา AI มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำเอาไว้ ในขณะที่ประเทศจีนเองก็มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังโดยกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติยุคใหม่ รวมถึงบรรจุให้เป็นหลักสูตรวิชาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนมีแผนการพัฒนาในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ภายในปี 2030

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐก็ได้เริ่มขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทางด้าน AI แบบเชิงรุกมากขึ้น ผ่านแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) หรือ AI THAILAND ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่ครบถ้วนและสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (2) การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา (3) การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษา (4) การส่งเสริมการใช้งานในภาครัฐและภาคเอกชน และ (5) การเตรียมความพร้อมด้านจริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบ

การสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐประกอบกับความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีไปสู่การเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี อันจะเป็นการช่วยลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติและทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริงนั่นเอง