Articles

THE INNOVATION LEADER

19/10/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รายงานดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ถือเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยทางด้านสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบตลาดและธุรกิจ ทุนมนุษย์และการวิจัยพัฒนา ตลอดจนผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ของประเทศกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โดยผลการจัดอันดับล่าสุดในปี 2022 ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีคะแนนค่าเฉลี่ยรวมดัชนีนวัตกรรมมากที่สุดและเป็นผู้ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมายาวนานถึง 12 ปี

โดยเบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างเมืองแห่งนวัตกรรมระดับโลกนั้นมาจากการสอดประสานกันของหลายองค์ประกอบที่สร้างให้เกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่ยืดหยุ่นและเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ การวางแผนพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จคือ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการมีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงสำหรับผลิตงานวิจัยขั้นพื้นฐานก่อนนำไปต่อยอดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำไปก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยจากการศึกษาพบว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสูงถึงเกือบ 3% ของ GDP ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD นั้นอยู่ที่ 2.3% ของ GDP เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ Innosuisse โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ผ่านการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนเพื่อสร้างเครือข่ายและวางรากฐานในการพัฒนานวัตกรรมให้กับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและงานวิจัย ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ SME ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันนั้น ยังได้มีการพัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรม หรือ Swiss Innovation Park 6 แห่งทั่วประเทศซึ่งมีทั้งการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและเครือข่ายสำหรับให้มหาวิทยาลัย นักวิจัย บริษัท หรือนักลงทุนได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดและดำเนินการวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งจากการลงทุนในองค์ความรู้และนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่องนี้จึงทำให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตจนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกได้สำเร็จนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย ผลการจัดอันดับ GII ของปีนี้ยังคงอันดับที่ 43 เท่ากันกับปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอันดับในปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานและผลผลิตด้านความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมอันดับที่ลดลงในปัจจัยด้านสถาบัน ทุนมนุษย์และการวิจัย ระบบตลาด และผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทยยังมีช่องว่างหลายประการที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา โดยปัจจุบันภาครัฐเองก็ได้มีการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยหนึ่งในโครงการสำคัญคือ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่พร้อมรองรับการวิจัยและพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

การจะยกระดับความสามารถทางนวัตกรรม รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/วิจัย เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกได้ตามเป้าหมายนั่นเอง