Articles

สมุนไพร 4.0

19/01/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

กระแสรักและใส่ใจสุขภาพได้ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการแพทย์ทางเลือก หรือAlternative medicine มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การแพทย์ดังกล่าวจึงได้ถูกนำมาใช้รักษาควบคู่หรือทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันที่ยังมีข้อจำกัดในประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่ง หนึ่งในการแพทย์ทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ได้แก่ สมุนไพร หรือ Herbal medicine นั่นเอง

ในปัจจุบัน สมุนไพรได้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กร Globe Newswire ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมุนไพรโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 550 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ด้วยอัตรการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2573 เท่ากับร้อยละ 18.9 เลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้เปิดเผยว่าการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทยตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2563 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 10.3  พร้อมกันนี้ กรมการส่งออกระหว่างประเทศก็ได้รายงานตัวเลขมูลค่าการส่งออกสมุนไพรไทยนั้นสูงถึง 1 แสนล้านบาทในปี 2563 เลยทีเดียว ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชสมุนไพรจึงทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมุนไพรในกลุ่ม Champion Products ได้แก่ กระชายดำ ไพล บัวบก และขมิ้นชัน นั่นเอง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ได้ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรไทยที่สามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาทิ ฟ้าทะลายโจร ขิง และมะขามป้อม เป็นต้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย รวมถึงบุคลากร/ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยในตลาดผู้บริโภคนั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมดังกล่าวยังต้องเผชิญกับอุปสรรค อาทิ สินค้ามีมูลค่าต่ำ การขาดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ข้อจำกัดด้านงานวิจัย รวมถึงปัญหาด้านการตลาด เป็นต้น ซึ่ง ภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการพัฒนาพืชสมุนไพรแบบครบวงจรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการ EEC เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยไปตามแนวความคิด “สมุนไพร 4.0” ที่มุ่งเน้นนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาพัฒนาอุตสาหกรรมพืชสมุนไพร โดยจะเริ่มนำร่องด้วยการปลูกพืชสมุนไพร ได้แก่ กัญชง กัญชา และฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพและมีความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยยกระดับไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเวชภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชนร่วมพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นฐานการผลิตกัญชาสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาความเจ็บป่วยและโรคบางชนิด อาทิ โรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub การยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยจึงไม่เพียงแต่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของไทย อีกทั้งยังช่วยตอกย้ำถึงความพร้อมของประเทศในการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบครบวงจรได้อีกด้วย ทั้งนี้ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมในการใช้สมุนไพรไทย การสร้างเครือข่ายงานวิจัย (R&D) รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรและผู้ประกอบการก็ควรนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และพัฒนาเครือข่ายทางการตลาดไปพร้อมๆกัน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยสามารถแข่งขันและเติบโตในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนั่นเอง