Articles

CORPORATE WELLNESS

05/01/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ได้เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลทำให้ประชากรโลกมีอายุที่ยืนยาวขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้องค์กรภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพของบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ การเจ็บป่วยจากการทำงาน โรคเรื้อรัง/ร้ายแรง และปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจจึงต่างหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างสุขสภาพในองค์กรที่มุ่งเน้นดูแลบุคลากรให้มีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้นั่นเอง

แนวความคิดสุขสภาพในองค์กร หรือ Corporate Wellness นั้นถือเป็นการดูแลบุคลากรเชิงบูรณาการตั้งแต่การดูแลให้มีสุขภาพและความเป็นอยู่ดี รวมถึงการวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคด้วยเช่นกัน โดยองค์กรชั้นนำต่างได้นำเอาแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น Microsoft บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกที่ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพและความเป็นอยู่ดี โดยได้มีการตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพ ศูนย์ตรวจวัดสายตา ห้องออกกำลังกาย และสนามกีฬา อีกทั้งยังได้มีการพัฒนา Microsoft CARE โปรแกรมให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและบรรเทาความวิตกกังวลให้แก่พนักงานอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ยังมี Virgin Group บริษัทแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากประเทศอังกฤษที่ได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนา Virgin Pulse แอปพลิเคชันด้านสุขภาพที่สามารถเชื่อมต่อกับ smart devices ต่างๆได้แบบ real-time ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยให้พนักงานสามารถตั้งเป้าหมายและติดตามผลลัพท์ด้านสุขภาพ ตลอดจนช่วยสร้างนิสัยรักและใส่ใจสุขภาพให้กับพนักงานไปพร้อมๆ กัน

การสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ดีในองค์กรไม่เพียงแต่ทำให้องค์กรสามารถลดผลกระทบของประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงอันมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยของพนักงงาน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลขององค์กรในระยะยาว โดยนิตยสาร Havard Business Review เองได้รายงานผลสำรวจพบว่าร้อยละ 61 ขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขสภาพในองค์กรนั้นมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลของพนักงานที่ลดลง นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลายองค์ยังได้นำเอาแนวความคิด Corporate Wellness มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อช่วยเพิ่มความผูกพันและความจงรักภักดีของพนักงานที่มีต่อองค์กร ซึ่งสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) ก็ได้เปิดเผยว่าร้อยละ 89 ของพนักงานในองค์กรที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ดีมีความผูกพันและยังช่วยแนะนำองค์กรให้กับผู้ที่มีความสนใจจะร่วมงานหรือบุคลากรที่มีความสามารถอีกด้วย

ในยุคที่คนทำงานต่างให้ความสำคัญกับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพส่วนบุคคลและคุณภาพชีวิตในที่ทำงาน การพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่องค์กรที่ใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของพนักงานจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจและผูกพันต่อองค์กรมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน สำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาประเทศไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) การพัฒนาสุขสภาพในองค์กรนั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนายกระดับในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ดีในระยะยาวได้ด้วยนั่นเอง