Articles

INNOVATION-DRIVEN ECONOMY

01/12/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางโลกแห่ง Digital Disruption ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดส่งผลทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอีกทั้งยังทำให้ความต้องการของตลาด/ผู้บริโภคซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกประเทศทั่วโลกจึงต่างเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีนวัตกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของการอยู่รอดและเติบโตในบริบทใหม่ของโลก

จากการเปิดเผยผลการประเมินระดับนวัตกรรมในมิติต่างๆ ของทั้งหมด 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ในรายงานดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2021 (Global Innovation Index 2021: GII) ที่จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ระบุว่า ประเทศที่มีคะแนนค่าเฉลี่ยรวมดัชนีนวัตกรรมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (65.5 คะแนน) สวีเดน (63.1 คะแนน) และสหรัฐอเมริกา (61.3 คะแนน) ตามลำดับ ซึ่งผู้เขียนพบว่า ประเทศที่มีคะแนนค่าเฉลี่ยรวมดัชนีนวัตกรรมสูงที่สุด 10 อันดับแรกนั้นล้วนเป็นกลุ่มประเทศรายได้สูง อันเป็นตัวสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ส่งผลให้กลุ่มประเทศหนึ่งมีความมั่งคั่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 (37.2 คะแนน) ซึ่งเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับที่ 44 ในปีก่อนหน้า โดยหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วไทยเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์ (อันดับที่ 8) และมาเลเซีย (อันดับที่ 36) เท่านั้น

โดยจากการศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมอย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นผู้ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของดัชนีนวัตกรรมโลกติดต่อกันถึง 11 ปี พบว่า สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม โดยสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการสนับสนุนนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ผ่านสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ Innosuisse เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรม 6 แห่งทั่วประเทศที่ถูกสร้างขึ้นแบบเป็นระบบนิเวศเพื่อก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ทางด้านนวัตกรรมซึ่งมีทั้งการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนเครือข่ายที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัย บริษัท หรือนักลงทุนต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดและดำเนินการวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และอีกหนึ่งกลไกสำคัญของความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นในการทำวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยในปีที่ผ่านมามีการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้นกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของ GDP ซึ่ง 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนนั้นมาจากภาคเอกชน

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่โมเดล “Thailand 4.0” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็น “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value-Based Economy) โดยภาครัฐก็ได้มีความพยายามในการสนับสนุนด้านนวัตกรรมผ่านโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ที่ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่พร้อมรองรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่อันเป็นส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเป็น “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value-Based Economy) นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา/วิจัย เพื่อนำพาให้ประเทศไทยสามารถก้าวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก อันจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้นั่นเอง