Articles

CORPORATE INCUBATOR

01/09/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดการแข่งขันขององค์กร อีกทั้งยังถือเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จขององค์กรในโลกยุคดิจิทัล ส่งผลให้ องค์กรขนาดใหญ่จึงหันมาจัดทำโครงการบ่มเพาะธุรกิจภายในองค์กร หรือ Corporate Incubator ที่ผลักดันให้พนักงานในองค์กรนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่มาพัฒนาต่อยอดธุรกิจของบริษัท รวมถึงการค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าและการเติบโตทางธุรกิจ ให้กับองค์กรได้นั่นเอง

หากพิจารณาโครงการบ่มเพาะธุรกิจในต่างประเทศ ผู้เขียนพบว่ามีองค์กรขนาดใหญ่ในหลายประเทศที่ได้มุ่งเน้นพัฒนาการบ่มเพาะธุรกิจภายในองค์กร อาทิเช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจของ LinkedIn บริษัทพัฒนาเครือข่ายธุรกิจชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนให้พนักงานส่งแนวความคิดการพัฒนา/ คิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ โดยผู้นำเสนอ idea ที่ได้รับเลือกก็จะได้รับโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามที่ได้เสนอไว้และสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจ (mentor) ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ยังมี Lab126 ซึ่งเป็นหน่วยงานของบริษัท Amazon ที่ถูกก่อตั้งมาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ hardware เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับสามารถนำเสนอแนวคิดธุรกิจเชิงนวัตกรรม โดย idea ที่มีความน่าสนใจก็จะถูกพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป หน่วยงานดังกล่าวถือเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมของ Amazon หลายผลิตภัณฑ์ อาทิ Prime Now, Amazon Go และ Alexa เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐเองก็ได้สนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ startup ไทยที่พัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ EEC ที่ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนา EEC Startup Hub เพื่อเป็นศูนย์ขับเคลื่อนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลในเขตพื้นที่ EEC โครงการดังกล่าวมีการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ startup ผ่านมาตรการส่งเสริมทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงการออกกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมตามแนวคิด Regulatory Sandbox เป็นต้น อีกทั้ง ภาครัฐยังได้ผลักดันให้ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันวิชาการต่างๆ ให้ร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ startup ไทยให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านทางการทำงานร่วมกันหรือการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจอีกด้วย

ซึ่งภาคเอกชนเองก็ต่างให้ความสนใจและพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจ/ นวัตกรรม ตัวอย่างเช่น WHA Group เองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและผลักดันการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 กลุ่มบริษัทฯ ก็ได้ริเริ่มโครงการ WHA Innovation Leader ที่ส่งเสริมให้พนักงานนำเสนอโครงการพัฒนาธุรกิจเชิงนวัตกรรมแก่ผู้บริหาร โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่กระตุ้นให้พนักงานคิดแบบผู้ประกอบการและพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อีกทั้งยังนับเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) ภายในองค์กรอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังได้พัฒนาโครงการ WHA Digital Transformation ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานร่วมนำเสนอแนวความคิดการนำเอาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การทำธุรกิจ และยกระดับขั้นตอนการทำงาน โดยในปี 2021 มีแนวความคิด/ initiative ที่ถูกนำเสนอโดยพนักงาน ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการดังกล่าวมากถึง 30 แนวความคิดเลยทีเดียว

การบ่มเพาะนวัตกรรมภายในองค์กร ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรกล้าคิดนอกกรอบและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่า หรือ Value-based Economy ที่เน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้นั่นเอง