Articles

CLEAN WATER

17/03/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำสะอาด รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้มาตรฐานนับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งองค์กร United Nations เองก็คาดการณ์จำนวนประชากรโลกว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.8 พันล้านคนภายในปี 2593 และส่งผลทำให้ความต้องการใช้น้ำสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบจากภาวะดังกล่าวจึงถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยหลายประเทศได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นที่ได้นำน้ำเสียของเมืองฟุกุโอกะมาบำบัดและกรองเป็นน้ำประปาเกรด 2 หรือประเทศจีนที่สร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำขนาด 5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวันในเมืองเทียนสิน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคชุมชนถือเป็นภารกิจสำคัญของภาครัฐ โดยรัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาผ่านกลไกของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ การออกกฎหมายและจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อควบคุมดูแลการจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนา/ ให้สัมปทานแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว  ตัวอย่างเช่น บริษัท WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WHA Group และเป็นผู้ให้บริการบำบัดน้ำเสียแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอก็ได้มีการลงทุน โครงการ Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิต 9.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ โครงการ Demineralized Water Plant ขนาดการผลิตสูงสุด 4.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชั้นนำ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับเทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการจัดการระบบน้ำเสียและการนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและเมืองในพื้นที่ EEC ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่อาจละเลย การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบโดยการกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำที่คำนึงถึงความต้องการ (Demand) และการจัดหา (Supply) ในระยะยาว เช่น การจัดทำแผนแม่บทการผันน้ำจากแหล่งใกล้เคียง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัล อาทิ ดาวเทียม ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) การวิเคราะห์และพยากรณ์ ระบบตรวจวัดและควบคุม (SCADA/ IoTs) ฯลฯ ตลอดจนนวัตกรรมการผลิตน้ำสมัยใหม่ เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) เทคโนโลยีน้ำกลั่น (Demineralized Water) การบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ (Reclamation) และการบรรลุข้อตกลงการกำหนดราคาน้ำที่เป็นธรรมเมื่อคำนึงถึงต้นทุนการผลิตน้ำจากแหล่งที่แตกต่างกันก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดภายในพื้นที่และทำให้กลุ่มผู้ใช้ประเภทต่างๆ สามารถใช้น้ำร่วมกันได้อย่างคุ้มค่าและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

“น้ำ” นับเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การบริหารจัดการน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐผ่านการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวนโยบายที่ชัดเจนจึงเปรียบเสมือนก้าวแรกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึงในราคาต้นทุนที่เหมาะสม ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศในระยะยาวนั่นเอง