Articles

Covid-19 และสุขภาพจิตในที่ทำงาน

03/03/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในที่สุดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกก็ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย และจะถูกกระจายไปยังพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนที่จะขยายไปสู่ประชาชนโดยทั่วไป  ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมค่อย ๆ กลับมาดำเนินได้ตามปกติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในหมู่นักศึกษาจบใหม่ไปจนถึงคนวัยทำงานพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากความเครียดและความกังวลได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า กว่า 2 ใน 3 ของ ประชากรวัย 18-24 ปี มีอาการป่วยทางจิตอันเป็นผลพวงมาจากโควิด-19 นอกจากนั้นแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทำให้พนักงานถูกลดเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ จากนายจ้าง ไปจนถึงจำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตต่างแสดงความกังวลว่า ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบกลายเป็นโรคจิตเรื้อรังในระยะยาว อันจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และการพัฒนาเรียนรู้ในอนาคต

ตลอดช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 1 ปีที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสุขอนามัยในที่ทำงาน รวมถึงการลดความเสี่ยงจากการติดและการแพร่กระจายของเชื้อในกลุ่มพนักงาน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าองค์กรโดยส่วนมากมักจะให้ความสำคัญในด้านสุขภาพกายของพนักงาน แต่อาจจะละเลยการให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตไป สอดคล้องกับผลการศึกษาของบริษัท 3M Asia ซึ่งพบว่า 7 ใน 10 ของคนทำงานรุ่นใหม่ในประเทศไทยระบุว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาด ในรูปแบบของความกังวล ความเครียด ความรู้สึกโดดเดี่ยวและการที่ไม่สามารถจัดการความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวอันเป็นผลจากการ Work from Home  และที่สำคัญคือการที่ไม่รู้ว่าจะหันไปปรึกษาปัญหาเหล่านี้กับใครในที่ทำงาน

ผู้เขียนเชื่อว่า เรายังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอเมื่อพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน ซึ่งในสถานการณ์ปกติ เรามักจะมีความเครียด ความกังวลจากการทำงานอยู่แล้ว และความเครียดเหล่านี้จะค่อย ๆ ถูกสั่งสมทีละเล็กทีละน้อยจนไม่รู้สึกตัว และถูกปล่อยปละละเลยจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเรา บางกรณีรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงานและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ ก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต

องค์กรหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการมีที่ปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อทำหน้าที่รับฟังและให้คำชี้แนะแก่พนักงานถึงปัญหาความเครียดทั้งที่เกิดจากการทำงานและจากชีวิตส่วนตัว ในบางองค์กรเริ่มกลับมาพิจารณาถึงแนวทางของการ Work from Home ว่าอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน ในขณะที่หลาย ๆ องค์กรริเริ่มที่จะให้มีการตรวจเช็คสุขภาพจิตของพนักงานทุกระดับควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพประจำปี

ในท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าวัคซีนจะสามารถช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาในแง่ของสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญและวางแผนดูแลพนักงานในระยะยาวต่อไป เพื่อให้ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดสำหรับองค์กรได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดนั่นเอง