Articles

CHINA’s MOVE: BIG TECH IN CHECK

27/01/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกไม่แพ้ข่าวการเลือกตั้งและกระบวนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ของคุณ Joe Biden คงหนีไม่พ้นข่าวรัฐบาลจีนภายใต้การนำของท่านประธานาธิบดี Xi Jinping ที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบและกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหรือ Tech Giants ของตน และการกลับมาปรากฎตัวอีกครั้งของคุณ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba และ Ant Group ภายหลังจากที่หายตัวไปนานร่วมสองเดือน

คลื่นลูกแรกของเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปีก่อนที่รัฐบาลจีนได้สั่งระงับกระบวนการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่ากว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัท FinTech ในเครือของ Alibaba อย่างกะทันหัน ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายแสดงความเห็นถึงการตัดสินใจของรัฐบาลจีนครั้งนี้ว่า ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่คุณ Jack Ma ออกมาแสดงความเห็นรวมถึงนำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการเงินของจีน (อย่างเผ็ดร้อน) บนเวทีงานประชุมการเงินที่เซี่ยงไฮ้ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลจีนก็ได้ประกาศร่างกฎหมายที่กำหนดให้บริษัท FinTech ซึ่งประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยเฉพาะการทำ Microfinance จำเป็นต้องมีทุนสำรองอย่างน้อยร้อยละ 30 ของวงเงินปล่อยกู้ในขณะที่ Ant Group ขาดคุณสมบัติเนื่องจากมีทุนสำรองอยู่เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

นอกจากประเด็นเงินทุนสำรองแล้ว Alibaba Group ยังต้องเผชิญกับคลื่นลูกที่สองของการสอบสวนโดยหน่วยงานบริหารจัดการระเบียบตลาด (State Administration of Market Regulation – SAMR) ในข้อหากระทำการ “ผูกขาด” บีบบังคับคู่ค้ารายย่อยทำสัญญาจำหน่ายสินค้าเฉพาะบน platform ของตนเอง รวมถึงเดือนธันวาคม Alibaba Group ก็ถูกสั่งปรับเป็นเงินราว 500,000 หยวน (2.3 ล้านบาท) ฐานความผิดกรณีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Intime Retail บริษัทเครือห้างสรรพสินค้าโดยไม่แจ้งให้ทางการทราบเช่นเดียวกับ Tencent Holding ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น WeChat ที่ได้เข้าซื้อกิจการสื่อบันเทิง New Classic Media โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล และ SF Holding บริษัทจัดส่งพัสดุที่ซื้อกิจการคู่แข่งและไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดแก่รัฐบาลจีนได้ ซึ่งกระบวนการสอบสวนการผูกขาดของรัฐบาลจีนนั้นก็ยังขยายผลไปครอบคลุมถึงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่นๆ เช่น กลุ่ม E-Commerce อาทิ JD.com, Pinduoduo หรือกลุ่มธุรกิจ Food Delivery อาทิ Meituan Dianping ตลอดจนบริษัท Ridesharing อาทิ Didi Chuxing เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศก็ได้มีการแสดงความเห็นว่า มาตรการและการเข้ามากำกับดูแลด้าน Anti-Competitive Behavior และ Consumer Protection อย่างจริงจังครั้งนี้ก็เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการจัดระเบียบ Tech Giants ที่นอกจากจะเป็นไปตามหลักการปกครองแบบสังคมนิยมสมัยใหม่แล้วยังเป็นการสร้างปัจจัยพื้นฐานไว้รองรับบทบาทของจีนในฐานะ Technological Superpower ที่สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมมากยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ อีกด้วย

เนื่องจากธุรกิจ Online ของจีนมีการแข่งขันที่รุนแรงจึงทำให้ยากที่ผู้เล่นรายอื่นจะเติบโตจนสามารถลดอิทธิพลของ Alibaba หรือ Tencent ในระยะเวลาอันสั้นได้ ตลอดจนค่าปรับเองก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของทั้งสองบริษัทอย่างมีสาระสำคัญ แต่แนวโน้มการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลจีนรวมทั้งข่าวแผนการเข้าควบคุม Ant และ Alibaba Group ของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องคอยจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลในภาพรวม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียว่าจะเป็นเช่นไรเพราะเมื่อพญามังกรขยับ โลกทั้งใบก็ย่อมกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง