Articles

WE’RE SOCIAL

04/03/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในรายงานการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคด้าน Digital และ Social Media ที่ทั่วโลกต่างจับตามองคือ Global Digital Report ของ We Are Social และ Hootsuite แพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดเผยข้อมูลและพฤติกรรมการใช้งานสื่อดิจิทัลของผู้คนทั่วโลกโดยภายหลังจากที่รอคอยกันมาหลายปีเมื่อไม่นานนี้ We Are Social ก็ได้เปิดเผยรายงาน Digital Thailand 2020 ที่เจาะลึกข้อมูลผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะอย่างเป็นทางการแล้ว

ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่าคนไทยสามารถตอบสนองต่อเทรนด์ด้านดิจิทัลได้เป็นอย่างดีโดยการเปิดเผยรายงานปีล่าสุดพบว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนหรือคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตและ Social Media รวมถึงประชากรไทยที่มีอายุระหว่าง 16 – 64 ปีครอบครอง Smart Phone ในสัดส่วนที่สูงถึง 94% เลยทีเดียว

นอกจากนั้น คนไทยยังใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวันโดยเป็นการใช้งานสำหรับการเล่น Social Media สูงถึงเกือบ 3 ชั่วโมงซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนไทยส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเล่น Social เป็นหลัก รองลงมาคือ การซื้อของออนไลน์ และลำดับสามคือ การทำธุรกรรมทางการเงิน โดยผู้ใช้งาน Social Media ชาวไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรวัย 25-34 ปีตามมาด้วยกลุ่ม 18-24 ปีและ 35-44 ปีตามลำดับ และ Facebook, Youtube และ Line ก็ยังคงเป็น Social Media Platform ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนไทย

โดยผลการสำรวจพฤติกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคไทยพบว่า คนไทย 82% เคยซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์โดยกลุ่มธุรกิจที่มียอดการขายออนไลน์เติบโตสูงสุดในปีที่ผ่านมาได้แก่ กลุ่มอาหาร ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และการท่องเที่ยว และตัวเลือกการชำระเงินที่คนไทยนิยมใช้ คือ Credit Card, E-Wallet, Bank Transfer และ Cash on Delivery หรือบริการเรียกเก็บเงินปลายทาง

ทั้งนี้กระแสความนิยมสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยก็ถูกสะท้อนอยู่ในผลการวิจัย "Conversational Commerce: The Next Gen of E-com" by BCG ที่เปิดเผยว่า คนไทยนิยมซื้อของผ่าน Social Commerce มากถึง 40% (ค่าเฉลี่ยของภูมิภาค SEA อยู่ที่ประมาณ 20%) สูงกว่าช่องทาง E-Commerce Platform อาทิ Lazada, Shopee, JD.Com ฯลฯ ที่อยู่ที่ 35% และเว็บไซต์ของแบรนด์ต่างๆ ที่ 25% ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันนี้ Social Commerce Platform ชั้นนำต่างก็พัฒนาฟังก์ชั่นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ซื้อสามารถจบธุรกรรมการซื้อขายได้ใน Platform ของตนโดยไม่ต้องเชื่อมต่อและเรียกเปิด application ของธนาคารอีกครั้งเพื่อการชําระค่าสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รวมถึง BCG ก็ได้แสดงมุมมองไว้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า ทุกวันนี้องค์กรขนาดใหญ่ยังไม่สามารถใช้ Social Commerce หรือ Conversational Commerce ได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ SME จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะใช้ความนิยมการเสพสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์โดยการนำ Social Technology เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางการตลาดและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งหากสามารถนำมาใช้อย่างถูกต้องได้ผลสัมฤทธิ์แล้วก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้เล่นรายใหญ่ต่างๆ ได้เลยทีเดียว

สิ่งสำคัญที่พวกเราสามารถเรียนรู้จากรายงาน Digital Thailand 2020 ฉบับนี้ คือ Disruption นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีล้ำสมัยเพียงอย่างเดียวแต่หากเป็นพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจนทำให้ฐานความรู้หรือวิธีปฏิบัติแบบเดิมไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกจึงทำให้การเตรียมพร้อมและปรับตัวรับสถานการณ์น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งและอยู่รอดต่อไปได้ในระยะยาวนั่นเอง