Articles

BIMSTEC

29/01/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียกำลังเป็นที่ถูกจับตามองอย่างมากจากทั่วโลกซึ่งหากพิจารณามูลค่า GDP at PPP ที่มีการปรับผลของความแตกต่างของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อในปีล่าสุดแล้ว อินเดียถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาโดยมีมูลค่า GDP กว่า 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 8 ของเศรษฐกิจทั้งโลกเลยทีเดียว

ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียส่งผลทำให้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอ่าวเบงกอล หรือ BIMSTEC ที่อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกหลักกลายเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดย BIMSTEC เป็นความร่วมมือระหว่างอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาณ เนปาล และประเทศไทยทำให้ BIMSTEC เป็นความร่วมมือที่ครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมถึง 1.5 พันล้านคน

ทั้งนี้ BIMSTEC ได้รับการจัดตั้งเมื่อปี 1997 โดยเกิดขึ้นจากนโยบายที่สอดรับกันอย่างลงตัวระหว่าง “มองตะวันออก” (Look East Policy) ของอินเดียกับ “มองตะวันตก” (Look West Policy) ของไทยที่ครอบคลุมทั้งด้านการเปิดเสรีการค้า การลงทุน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ อาทิเช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว การศึกษาและวิชาการ เป็นต้น

ประเทศไทยจึงสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือ BIMSTEC เพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้าสู่ตลาดการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายตามกำลังซื้อที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงภูมิภาคนี้ยังสามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดการส่งออกใหม่ของไทยที่จะช่วยลดการพึ่งพาตลาดการส่งออกเดิมและบรรเทาปัญหาสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจาระยะแรกไปแล้วแต่ก็จำเป็นจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

เนื่องด้วยที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลอันดามันและอ่าวไทย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกควบคู่ไปกับการสร้าง Land Bridge หรือรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมระหว่างท่าเรือชุมพร-ระนองของโครงการ SEC ที่สามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือคลองเตยและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของโครงการ EEC ได้อย่างไร้รอยต่อก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการเชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือที่สำคัญโดยสามารถเชื่อมต่อไปยังช่องแคบมะละกา (The Strait of Malacca) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของโลก และสามารถต่อยอดการพัฒนาจนเกิดเป็นระบบขนส่งหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนการพัฒนาข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น พิธีการศุลกากร การลดละเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่าง 2 ภูมิภาคเข้าด้วยกันต่อไปในอนาคต

สืบเนื่องจากผลของการเจรจา RCEP แบบ 15+1 ครั้งล่าสุดที่อินเดียประกาศขอเจรจาเพิ่มเติมในบางประเด็นก็น่าจะยิ่งทำให้ความร่วมมือ BIMSTEC โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอ่าวเบงกอลก็จะยังคงเป็นความท้าทายที่ประเทศมหาอำนาจทั้งจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ต่างก็ต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปทั้งสิ้น ซึ่งหากประเทศไทยกำหนดให้มีนโยบายและทิศทางด้านการค้าการลงทุนที่ชัดเจนก็น่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างไทยกับภูมิภาคแห่งนี้นั่นเอง