Articles

SOUTHERN ECONOMIC CORRIDOR

30/10/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ระยะหลังมานี้หลายๆ ท่านน่าจะคุ้นเคยกับโครงการ SEC หรือ Southern Economic Corridor ที่วางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ผ่านการพัฒนาเชิงพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับโครงการ EEC บนพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราชโดยการมุ่งเน้นต่อยอดฐานทรัพยากรและคำนึงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพื้นที่เป็นหลัก

เนื่องจากพื้นที่ของโครงการ SEC เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทยโดยฝั่งด้านตะวันตกสามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล อันได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาร์ ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏาน ส่วนทางด้านตะวันออกก็สามารถเชื่อมโยงกับโครงการ EEC ได้โดยตรงจึงทำให้พื้นที่ SEC มีศักยภาพเป็นประตูคมนาคมขนส่งและเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นอย่างดี

แผนการลงทุนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายที่เชื่อมจากหัวหิน-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี หรือ เส้นทางถนนเลียบทะเลที่พัฒนาคู่ขนานไปกับรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนโครงการปรับปรุงสนามบินชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานีเพื่อให้สามารถรองรับทั้งปริมาณผู้โดยสารและจำนวนสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งช่วยเปิดศักยภาพของพื้นที่และกระจายความเจริญออกไปยังส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียม

นอกจากนั้น โครงการซึ่งเป็นหัวใจหรือไฮไลท์หลักของการพัฒนา SEC คือ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกควบคู่ไปกับแนวคิดการสร้าง Land bridge หรือรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกชุมพร-ระนองที่หากพัฒนาสำเร็จก็จะช่วยให้สามารถขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกระนองไปยังท่าเรือชุมพรและเชื่อมต่อถึงท่าเรือแหลมฉบังในจังหวัดชลบุรีได้แบบไร้รอยต่อ รวมถึงสามารถพัฒนาจนกลายเป็นเส้นทางหลักสำหรับเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยและเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับการเชื่อมต่อโครงการ EEC เข้ากับมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย

เนื่องด้วยพื้นที่ของโครงการ SEC นั้นมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการเกษตรเป็นหลัก การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่เชื่อมโยงก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมจุดเด่นของทั้ง 4 จังหวัดในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวโดยชุมชมควบคู่ไปกับโครงการ Thailand Riviera ที่มุ่งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบทะเลฝั่งตะวันตกเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ (เมืองหลัก) ไปยังจังหวัดระนอง-ชุมพร (เมืองรอง) ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มรูปแบบก็จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อนสำหรับตากอากาศที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

ปัจจุบันโครงการ SEC จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักลงทุนต่างประเทศ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่เริ่มเข้ามาศึกษาและแสดงความสนใจลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน ซึ่งความรู้และประสบการณ์ของภาคส่วนต่างๆ จากการพัฒนาโครงการ EEC ทั้งในบริบทด้านการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจค การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนด้านระเบียบกฎหมาย มาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุน และความสัมพันธ์อันดีกับผู้ลงทุนกลุ่มต่างๆ ก็จะสามารถนำมาต่อยอดและขยายผลสำหรับโครงการ SEC ในอนาคต

โครงการ EEC และ SEC จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและการเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน รวมถึงเชื่อมโยงประเทศกลุ่มต่างๆ ให้สามารถหลอมรวมการผลิต การกระจายสินค้า รวมถึงตลาดร่วมกันได้ในอนาคตนั่นเอง