Articles

CLMVT Forum 2019

03/07/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผู้เขียนได้รับเชิญไปเป็น Speaker สำหรับ Panel Discussion ภายใต้หัวข้อ “Trade and Investment Linkage - CLMVT and Beyond” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน CLMVT Forum 2019 เวทีการประชุมระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพของ 5 ประเทศในภูมิภาค CLMVT ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาขีดความสามารถการค้า การลงทุน และขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่แห่งเอเชีย

ภายในงานได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตลอดจนผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการจากหลากหลายประเทศที่มาแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้ร่วมงานโดยกลุ่มประเทศ CLMVT เป็นภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยศักยภาพทั้งในด้านทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ปัจจุบัน CLMVT มี GDP และมูลค่าการค้ากับทั่วโลกรวมกว่า 785 และ 950 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มประเทศสมาชิกต่างร่วมมือโดยอาศัยความได้เปรียบดังกล่าวโดยการต่อยอดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น ถนน ระบบราง ท่าเรือ ฯลฯ และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Zone) จึงทำให้ CLMVT กลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของภูมิภาคตลอดมา

เมื่อผนวกกับสถานการณ์การค้าหรือ Trade War ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้นจึงทำให้ภูมิภาค CLMVT ยิ่งถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุนสำหรับทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ อย่างไรก็ตาม ความแพร่หลายของเทคโนโลยีสมัยใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ได้นำมาซึ่งความท้าทายรูปแบบใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันของอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ส่งผลให้ทุกภาคส่วนใน CLMVT ต้องปรับตัวโดยการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจัยสนับสนุนที่ผู้ทรงคุณวุฒิต่างเห็นตรงกันว่าภูมิภาค CLMVT ควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ได้แก่ การพัฒนาความร่วมมือด้าน Soft Infrastructure โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบที่เชื่อมโยงลดขั้นตอนที่เป็นภาระแก่ภาคธุรกิจและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา การยกระดับการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้และทักษะสมัยใหม่จนเกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการส่งเสริม SME/ Startup หรือผู้ประกอบการยุคใหม่ให้สามารถเติบโตในระดับสากลเพื่อที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคต่อไปในอนาคต

โครงการ EEC จึงสามารถช่วยตอบโจทย์ความท้าทายและความร่วมมือของภูมิภาค CLMVT ได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ กฎระเบียบที่สนับสนุนกระบวนการทำงานของภาคธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะและขีดความสามารถที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ อาทิ ความสามารถในการบริหารจัดการการผลิต การเงิน การพัฒนาแบรนด์สินค้า เป็นต้น นอกเหนือไปจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโทรคมนาคมต่างๆ ที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้เขียนได้เน้นย้ำอีกครั้งบนเวทีการประชุม คือ การร่วมกันลงมือปฏิบัติและขับเคลื่อนตามแผนงานที่จัดทำไว้โดยการกำหนดทีมงานและผู้รับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมที่ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้แทนจากภาครัฐเท่านั้นแต่จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน วิชาการและสังคมซึ่งจะกลายเป็นพลังที่ส่งเสริมให้ภูมิภาค CLMVT มีความเข้มแข้งและสามารถเติบโตไปด้วยกันในระยะยาว