Articles

EEC & THE 21st CENTURY LEARNING

25/07/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อโลกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การปรับตัวเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทุกคนต้องใส่ใจและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่นั้นครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นองค์ความรู้ความชำนาญ (Skills) และการมีทัศนะคติ (Mindset) ที่เอื้อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน

ผู้เขียนมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การพัฒนาคนต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก จำเป็นต้องสอนลูกหลานของเราให้เป็นคนที่คิดเป็น ฝึกปลูกจิตสำนึกให้เขาเป็นคนมีจินตนาการ รู้จักประยุกต์ คิดวิเคราะห์และตั้งคำถาม โดยวัฒนธรรมเหล่านี้ควรเริ่มปลูกฝังจากที่บ้าน แล้วขยายไปสู่สถาบันการศึกษาและองค์กรการทำงานในที่สุด

ผู้เขียนมีโอกาสศึกษารายงานการวิจัยร่วมระหว่าง World Economic Forum (WEF) และ The Boston Consulting Group (BCG) โดยรายงานฉบับดังกล่าวแบ่งกลุ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ (1) Foundational Literacies (2) Competencies (3) Character Qualities ซึ่งหนึ่งในผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ ประชากรของกลุ่มประเทศรายได้สูงได้คะแนนทักษะกลุ่ม 2 ด้าน Critical Thinking/ Problem Solving/ Creativity และคะแนนคุณลักษณะกลุ่ม 3 ด้าน Curiosity ที่สูงกว่าประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอย่างมีสาระสำคัญ ตลอดจนไม่ปรากฎคะแนนคุณลักษณะด้าน Curiosity จากกลุ่มตัวอย่างประชากรที่นำมาศึกษาจากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำเลย ซึ่งผลการศึกษามีความสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นอย่างมาก

ประเทศที่สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นอกจากจะต้องพัฒนาประชากรของตนให้มีองค์ความรู้และทักษะเฉพาะทางสำหรับการประกอบอาชีพแล้ว ยังต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนทักษะการใช้ชีวิตเพื่อให้สามารถปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปฏิรูประบบการศึกษาในแนวทางที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยทั้งส่วนการเรียนการสอนในระบบ (Formal Education) และ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจากการศึกษาผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ WEF ย้อนหลัง 10 ปี ผู้เขียนพบว่า คุณภาพการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นสูง และการฝึกอบรมอันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างบุคลากรที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมได้รับการจัดอันดับในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลดต่ำลง โดยเฉพาะคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมถึงพบปัญหาคุณภาพของสถานศึกษาและการฝึกอบรมทักษะเฉพาะด้านของแรงงานซึ่งส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทและอุตสาหกรรมที่บุคลากรเหล่านั้นปฏิบัติงานอยู่ และที่สุดย่อมส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นโยบายประเทศไทย 4.0 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตโดยใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องพัฒนายกระดับแรงงานชาวไทยให้มีทักษะต่าง ๆ ที่จำเพื่อรองรับความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ แม้ว่าเราจะสามารถดึงดูดบริษัทข้ามชาติที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้เข้ามาลงทุนในโครงการ EEC โดยใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยครบครัน แต่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครบวงจร ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยที่บุคลากรของประเทศไม่มีความพร้อม หรือไม่ได้มีการจัดเตรียมแผนการผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมและอาทิตย์หน้าเราจะมาคุยถึงแนวทางของคณะกรรมการ EEC ในการเพิ่มทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถของบุคลากรชาวไทยให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตเหล่านั้นกัน