Articles

Travel & Tourism

07/11/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การท่องเที่ยวของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2560 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยมีมูลค่ากว่า 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.8 ของ GDP รวมทั้งประเทศ โดยสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยรวมกว่า 35.4 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวมากที่สุดของโลก

การเชื่อมต่อของระบบโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ระดับรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ ล้วนเป็นตัวเร่งให้การท่องเที่ยวของประเทศกลุ่มอาเซียนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรม ประเพณี ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นสิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ประเทศไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการท่องเที่ยวของไทยไปพร้อมกัน

การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมต่างๆ ที่เชื่อมโยงภายในโครงการ EEC อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา เส้นทางมอเตอร์เวย์ ฯลฯ ตลอดจนเมกะโปรเจคอื่นๆ ที่รัฐบาลกำหนดให้มีการพัฒนาล้วนมีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางที่ครอบคลุมโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางหลักต่างๆ ได้แก่ (1) เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย (ผ่านนครราชสีมา) (2) เส้นทางกรุงเทพ - ปาดังเบซาร์ (ผ่านหัวหินและสุราษฎร์ธานี) และ (3) เส้นทางกรุงเทพ – เชียงใหม่ (ผ่านพิษณุโลก) โดยเส้นทางที่ (1) และ (2) นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่มุ่งเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางของภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดเข้าด้วยกัน

ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นอุตสาหกรรมและบริการที่ได้รับประโยชน์ทางตรงจากโครงการลงทุนต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงจะช่วยเปิดศักยภาพการท่องเที่ยวของพื้นที่ใหม่ ๆ ทำให้สามารถกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองอันจะเป็นการสร้างสมดุลและกระจายรายได้สู่จังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ การพัฒนาระบบรางที่ครอบคลุมจะช่วยให้การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสะดวกและรวดเร็ว ตลอดจนช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากเดิมที่นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนจัดการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางตามเส้นทางที่สอดคล้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเน้นการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยว เชื่อมโยงวัฒนธรรม วิถีชีวิตและคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยคือ การบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนบริหารกลาง (Function) และระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น (Area) เพื่อส่งเสริมให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามแผนงาน ไม่ซ้ำซ้อน มีการติดตามงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการและใช้งบประมาณได้อย่างสอดคล้องและเกิดประสิทธิผล ซึ่งการกำหนดให้มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นน่าจะเป็นวิธีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและเร็วที่สุด สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนอย่างทั่วถึงอันเป็นการเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศในระยะยาว