Articles

EEC & INTEGRATED SMART CITY

08/08/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ส่วนตัวผู้เขียนให้ความสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ Urbanization เป็นพิเศษเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้แสดงทรรศนะไว้ว่า Urbanization จะเป็นเทรนด์ที่ทรงพลังมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกศตวรรษที่ 21 อาทิตย์นี้ผู้เขียนจึงอยากจะมาแชร์มุมมองแนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ซึ่งมาพร้อมกับกระแสของโลกยุค Urbanization

กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยมาอย่างยาวนาน โดยเราแทบไม่เคยกระจายโอกาส ความเจริญ และทรัพยากรไปยังพื้นที่อื่นๆ เลย การเป็น “เมืองโตเดี่ยว” หรือความเป็นเอกนคร (Primate City) ของกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องของเทรนด์เหมือนกันแต่เป็นเทรนด์ที่โบราณล้าสมัยไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 - 1950 ไม่เหมือนกับแนวความคิดการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่เป็น Integrated Cities หรือการพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นการขยายขอบเขตเมืองโดยใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่ทันสมัยเพื่อเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ทั้งเมืองหลักและเมืองรองเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ และกระจายความเจริญออกไปยังส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียม

แนวความคิดของการพัฒนาเมืองใหม่ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาเมืองที่มีความทันสมัย และสามารถตอบสนอง lifestyle ของคนยุคปัจจุบันโดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ซึ่งเทรนด์ที่กำลังถูกพูดถึงไปพร้อมๆ กัน คือ แนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ปัจจุบันทั่วโลกมีเมืองที่พัฒนาบนแนวความคิดของ Smart City อยู่มากมาย ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เมืองเหล่านี้ต่างมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างเมืองที่สามารถตอบโจทย์การดูแลและพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น Smart City จึงไม่ได้มีดีแค่เพราะ smart หรือทันสมัยเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยี เช่น IoTs หรือระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาใช้เท่านั้น แต่รวมถึงการออกแบบเมืองให้ตอบสนองคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัยและสร้างสมดุลสำหรับประชากรผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลคาดการณ์ไว้ว่าพื้นที่เมืองใหม่ EEC จะมีการขยายตัวของประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจาก 2.4 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 13.5 ล้านคนภายใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงกำลังเร่งผลักดันโครงการ Smart City ในพื้นที่ EEC โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและร่วมกันพัฒนา Smart City อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังเป็นเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ อาทิ การผลิตพลังงาน ระบบไฟฟ้า ซึ่ง Smart City ทั่วไปจะมีการออกแบบระบบไฟฟ้าโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่ใช้ระบบไอทีในการประมวลผล และสั่งการให้เกิดการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) ที่พัฒนาขึ้นบนแนวคิดการผลิตไฟฟ้าที่มีลักษณะกระจายตัว (Distributed Generation) ที่ผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์หรือลม เข้ากับระบบกักเก็บพลังงาน แต่เนื่องจากแนวความคิดของ Smart/ Micro Grid ดังกล่าวยังไม่ตรงกับข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติปัจจุบันในหลายๆ ด้านของไทย ทำให้ภาคเอกชนยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบเหล่านี้ลงเพื่อให้สามารถพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ตามที่ออกแบบไว้

ความเชื่อมั่นของ Alibaba Group ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยของเราในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และ E-Commerce ของภูมิภาค ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะช่วงชิงความเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในจังหวะที่ประเทศมาเลเซียกำลังประสบปัญหาภาระหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงถึงหลัก 1 ล้านล้านริงกิต หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ต้องชะลอการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ East Coast Rail Link (ECRL) ไปก่อน

บทเรียนจากต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จ คือความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ในการร่วมกำหนดทิศทาง เนื่องจากแนวคิดหลักของ Smart City คือ การกระจายอำนาจและสร้างความสามารถในการบริหารจัดการเมืองด้วยตนเอง ข้อจำกัดเหล่านี้จึงยังคงเป็นความท้าทายให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขบคิดเพื่อแก้ปัญหาและร่วมมือกันเพื่อผลักดันต่อไป

บทความนี้ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันพุธที่ 8 สิงหาคม 2561 คอลัมน์ Smart EEC: EEC & Logistics Development