Articles

EEC & INNOVATION

13/07/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หาก Disruption คือ การสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่สิ่งเดิม Innovation ก็คือ การสร้างสิ่งใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาจากสิ่งเดิม ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาเกณฑ์การแบ่งกลุ่มประเทศโดยใช้ GDP per Capita ของ World Economic Forum หรือ WEF ซึ่งผู้เขียนพบว่า ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรมที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 36 ประเทศเป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP per Capita สูงที่สุด หรือมากกว่า 17,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จึงเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของระดับการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ส่งผลให้กลุ่มประเทศหนึ่งมีความมั่งคั่งของประชากรสูงกว่าประเทศในกลุ่มอื่นๆ

นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากเป็นปัจจัยที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ และเพื่อตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนของตลาดหรือผู้บริโภคผ่านสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าและนวัตกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และผสานกลมเกลียวกันจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการลงทุน R&D ตลอดจนการมีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงที่จะผลิตงานวิจัยขั้นพื้นฐานก่อนนำไปต่อยอดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำไปก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ในปี 2560 การลงทุนด้าน R&D ของไทยคิดเป็นเพียง 0.78% ของ GDP เปรียบเทียบกับสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับการจัดอันดับด้านนวัตกรรมจาก WEF เป็นอันดับ 1 ของโลกที่มีงบประมาณด้าน R&D ของประเทศสูงถึงเกือบ 3% ของ GDP นอกจากนั้น การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาของไทยเป็นการลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ธุรกิจ SME ไม่ได้มีการจัดสรรค่าใช้จ่าย R&D เลย เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเห็นผลในระยะเวลาอันสั้น เมื่อกอปรกับแนวนโยบายการทำวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่ผ่านมายังไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือศักยภาพด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชนจึงทำให้นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่

หนึ่งในมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือการกำหนดเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Park Thailand หรือ EECd โดยพื้นที่ภายในเขตนวัตกรรม EECi ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับระบบนิเวศด้านการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาโดยเน้นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมของประเทศให้สามารถรองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับเขตนวัตกรรมดิจิทัล EECd ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ. ศรีราชา จ.ชลบุรี จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลจากทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านกำลังคนดิจิทัลและเป็นศูนย์รวมของ Digital Tech Startup ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

เขตนวัตกรรม EECi และเขตนวัตกรรมดิจิทัล EECd จะกลายเป็นสถานที่สำหรับการบ่มเพาะและฟูมฟักการเรียนรู้และการสะสมเทคโนโลยีชั้นนำของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรและนักวิชาการชาวไทยอันจะช่วยตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อนำพาให้ประเทศไทยสามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก รัฐบาลเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงกำหนดมาตรการส่งเสริมด้านภาษีโดยให้นักลงทุนใน EECi และ EECd ได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทั่วไปเพื่อช่วยดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนและเกิดการถ่ายโอนทักษะความรู้ให้แก่บุคลากรชาวไทย ซึ่งอาทิตย์ต่อๆ ไป เราก็จะมาคุยถึงทักษะการทำงานที่จำเป็นสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนแนวทางการพัฒนาคนไทย 4.0 ที่ทันโลก ทันเทคโนโลยี และสามารถอยู่บนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ