Articles

U-TAPAO AEROTROPOLIS

04/07/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโครงการ EEC คือ การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาสู่การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 และกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก หรือ EEC-A เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะขยายตัวในอนาคตซึ่งอาทิตย์นี้เราก็จะมาคุยเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนามหานครการบิน หรือ Aerotropolis ว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างไร

หากการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและรถไฟเป็น Economic Engine ที่ผลักดันเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 19 จนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ก็คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการพัฒนาสนามบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างของโมเดลการพัฒนาท่าอากาศยานและเมืองศูนย์กลางการบินที่ประสบความสำเร็จมากมาย อาทิ ท่าอากาศยาน Schiphol ของเมืองอัมสเตอร์ดัม สนามบิน Incheon ของกรุงโซล สนามบิน Changi ของประเทศสิงคโปร์ หรือสนามบินนานาชาติ  Al Maktoum (DWC) ของดูไบ เป็นต้น

หากเปรียบเทียบโมเดลการพัฒนาท่าอากาศยาน และเมืองการบินของประเทศต่างๆ ให้เป็นไข่ไก่ สนามบินและพื้นที่สำหรับกิจกรรมเกี่ยวเนื่องทางตรง เช่น ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ก็เปรียบเป็นไข่แดงที่ถูกรายล้อมด้วยไข่ขาวหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมีสนามบินเป็นศูนย์กลาง อาทิ พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) หรืออุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจที่มีมูลค่าสูง และธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็วจากการขนส่ง เช่น เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวก โรงแรม ศูนย์ประชุมหรือ Exhibition และธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ EEC ที่ทางรัฐบาลกำลังเร่งลงทุน ก็จะทำให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือ Multimodal Transport ที่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเมือง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมรอบนอกออกไปอีก

แม้ว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ แต่เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยยังไม่มี หรือไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังในอดีต การผลักดันโครงการให้ประสบผลสำเร็จจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ซึ่ง WHA Group ก็ได้มีส่วนสนับสนุนมาโดยตลอดโดยกำหนดพื้นที่ใน 5 นิคมฯ จาก 9 นิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมให้เป็นพื้นที่สำหรับรองรับอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยดึงดูดบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ และเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมและการยกระดับความสามารถของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนั้น WHA Group ยังสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีศักยภาพซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ WHA Industrial Development เปลี่ยนหรือขยายการผลิตไปสู่ชิ้นส่วนอากาศยาน

การที่นโยบายประเทศไทย 4.0 และ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีกำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็น “อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต” นั้นคงไม่เกินความเป็นจริงแต่อย่างใด เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินเป็นที่รวมของเทคโนโลยีขั้นสูงและความทันสมัย รวมถึงเป็นหน้าตาของประเทศที่จะสร้างความประทับใจแรกให้แก่นักลงทุน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ในฉบับหน้าเราก็จะมาคุยถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ